กรมประมงสุดเจ๋ง!! สำเร็จเพาะพันธุ์ “ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์” ปลาไทยใกล้สูญพันธุ์ ต่างประเทศต้องการสูง

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมงสุดเจ๋ง โชว์ความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ “ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์” จัดเป็นปลาไทยอยู่ในวงศ์เดียวกันกับม้าน้ำที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ให้คงอยู่ เผยตลาดปัจจุบันตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง เพื่อนำไปนำไปใช้เป็นยาตามเวชศาสตร์แผนจีน ในแต่ละปีส่งออกไปยังจีน ฮ่องกง และใต้หวัน ปีละ 8-10 ตัน ล่าสุดสามารถขยายพันธุ์ 16 รุ่น รวม 647 ตัว พร้อมได้สนับสนุนองค์ความรู้ให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดในพื้นที่อื่น ๆ หวังรเพาะขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณที่มากเพียงพอที่จะปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป

    นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำบางชนิดของประเทศไทยได้ลดปริมาณลงจากอดีตเป็นอย่างมาก เนื่องจากแหล่งน้ำมีความเสื่อมโทรม สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีการนำมาใช้ประโยชน์จนเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้กรมประมงเร่งดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ในแหล่งน้ำธรรมชาติให้กลับมาคงความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยเฉพาะชนิดพันธุ์สัตว์น้ำประจำถิ่น และสัตว์น้ำหายากที่ใกล้สูญพันธุ์เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้ระบบนิเวศมีความสมดุล และสอดคล้องกับความต้องการ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น

                                    เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ 

   อย่าง “ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์”  เป็นปลาไทยอีกชนิดหนึ่งที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ในอดีตพบมากในแม่น้ำน่าน เจ้าพระยา บางปะกง ท่าจีน แม่กลอง และพบชุกชุมในทะเลสาบสงขลา แต่ปัจจุบันปลาชนิดนี้มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นปลาที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเพื่อนำไปใช้เป็นยาตามเวชศาสตร์แผนจีน เพราะเป็นสัตว์น้ำวงศ์เดียวกันกับม้าน้ำ ซึ่งมีการจับเพื่อส่งออกไปขายยังตลาดประเทศจีน ฮ่องกง และใต้หวัน ปริมาณถึงปีละ 8-10 ตัน และสูงสุด 20 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 6-8 ล้านบาท/ปี

    นอกจากนี้ ยังเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้เลี้ยงปลาสวยงามอีกด้วย กรมประมงจึงได้ทำการศึกษา วิจัย เพื่อเพาะขยายพันธุ์ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์จนประสบความสำเร็จ เมื่อปี 2563 และขณะนี้กรมประมงได้เดินหน้าขยายผลสำเร็จงานวิจัยโดยการติดตามสถานภาพทรัพยากรปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ ในแหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิด เพื่อนำไปเพิ่มปริมาณให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ และเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืนต่อไป

​”การศึกษาวิจัยเพาะพันธุ์ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์จนสำเร็จครั้งนี้ กรมประมงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ในการที่จะช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่หายากและใกล้สูญพันธุ์กลับคืนสู่แหล่งน้ำต้นกำเนิด เพื่อคืนความหลากหลายและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการขยายผลสำเร็จของงานวิจัยในการเพาะพันธุ์ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้ให้เป็นปลาเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์อีกด้วย เนื่องจากยังมีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ ” รองอธิบดีกรมประมง กล่าว

     ด้านนายเฉลิมพล เพ็ชรรัตน์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ (Doryichthys boaja (Bleeker, 1850) เป็นปลาน้ำจืดที่อาศัยอยู่ตามบริเวณผิวน้ำ พบในแม่น้ำ ลำคลอง และหนองบึงที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำ ลำตัวมีลักษณะเรียวยาวและมีสัณฐานปล้องลำตัวเป็นเหลี่ยม เกล็ดของปลาชนิดนี้ได้เปลี่ยนรูปกลายเป็นแผ่นกระดูกแข็งเป็นข้อ ๆ รอบตัว ปากยื่นแหลมมีลักษณะเป็นหลอด ปลายปากคล้ายปากแตร ไม่มีฟัน ใช้ปากในการดูดอาหาร

     สำหรับอาหารของปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ จะกินกุ้งขนาดเล็กและตัวอ่อนของแมลงที่อาศัยอยู่ตามผิวน้ำ ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์สามารถแยกเพศได้โดยดูจากลักษณะภายนอก เพศผู้บริเวณหน้าท้องจะเป็นร่องลึก มีขอบของแผ่นเกล็ดแผ่ยื่นออกมาเพื่อเป็นถุงฟักไข่ ขอบของถุงฟักไข่มีส่วนของแผ่นเกล็ดแผ่ยื่นออกมาทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันอันตรายจากวัตถุภายนอกที่จะมากระทบไข่ ส่วนเพศเมียไม่มีแผ่นเกล็ดยื่นออกมาแต่จะมีเส้นสันท้องเป็นแนวยาว โดยขนาดที่สำรวจพบความยาวประมาณ 15 – 33 เซนติเมตร

    ขณะที่ นายวรัณยู ขุนเจริญรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพิษณุโลก กรมประมง ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้นั้น ได้ใช้วิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยรวบรวมพ่อแม่พันธุ์มาจากแม่น้ำน่าน จำนวน 45 ตัว เป็นปลาเพศผู้ จำนวน 26 ตัว ความยาว 29.5-31.0 เซนติเมตร น้ำหนัก 13-14 กรัม ปลาเพศเมีย จำนวน 19 ตัว ความยาว 29.0 -29.9 เซนติเมตร น้ำหนัก 15-19 กรัม นำมาเลี้ยงในบ่อคอนกรีต ขนาด 2.0×1.5×0.5 เมตร อัตราปล่อย 10 ตัวต่อ 1 บ่อ โดยให้กุ้งฝอยขนาดเล็กเป็นอาหารวันละ 1 ครั้ง และจะคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาที่มีขนาดใกล้เคียงกัน   การสังเกตุปลาเพศผู้ หน้าท้องจะเป็นร่องลึก มีขอบของแผ่นเกล็ดแผ่ยื่นออกมาเป็นขอบเพื่อเป็นถุงไข่ ส่วนปลาเพศเมียจะไม่มีแผ่นเกล็ดยื่นเหมือนเพศผู้ ท้องจะอูมเป่ง

     จากนั้นจึงนำมาเพาะพันธุ์ในตู้กระจกขนาด 0.45×0.90×0.45 เมตร ใส่น้ำระดับน้ำสูง 45 เซนติเมตร ให้อากาศผ่านหัวทราย 1 จุด แล้วปล่อยให้พ่อแม่พันธุ์ผสมกันเอง โดยพ่อแม่ปลาจะเริ่มผสมพันธุ์วางไข่ในวันที่ 3-5 หลังจากการปล่อย แม่ปลาจะวางไข่ในช่วงเวลากลางวันตั้งแต่บ่ายถึงเย็น ใช้เวลาในการวางไข่ประมาณ 20-30 นาที วางไข่ครั้งละ 120-150 ฟอง ไข่มีลักษณะเป็นไข่ติด โดยจะวางไข่ติดอยู่บริเวณส่วนท้องของปลาเพศผู้ ไข่มีสีเหลืองใส เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.2-2.3 มิลลิเมตร ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 8-10 วัน ที่อุณหภูมิน้ำ 28-30 องศาเซลเซียส ลูกปลาแรกฟักมีความยาวประมาณ 14.7-15.0 มิลลิเมตร

     ทั้งนี้ ปัจจุบันทางศูนย์ฯ สามารถเพาะพันธุ์ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ได้แล้ว จำนวนทั้งหมด 16 รุ่น รวม 647 ตัว และยังได้สนับสนุนองค์ความรู้ให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดในพื้นที่อื่น ๆ ในการเพาะขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณที่มากเพียงพอที่จะปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป