เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์
กรมประมงสรุปตัวเลขปลานิลที่เกษตรกรชาวจังหวัดมหาสารคามเลี้ยงในกระชังตามลำน้ำชี ได้รับความเสียหายทั้งหมด 972 กระชังกว่า 300 ตัน มูลค่า 18 ล้าน แนะผู้เสียหายที่ขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) กับกรมประมง สามารถขอรับความช่วยเหลือผ่านทางหน่วยงานกรมประมงภายในจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินฯ
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์พร้อมออกพื้นที่ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการไว้ โดยมีการมอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคาม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทำประมงน้ำจืดกาฬสินธุ์ (เขื่อนลำปาว) ประสานความร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมหาสารคาม ในการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรด้านต่าง ๆ ทั้งการจัดเรือลำเลียงปลาที่สามารถจำหน่ายได้ และปลาที่เน่าเสียขึ้นฝั่ง รวมทั้งหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว
ปัจจุบันสามารถสรุปยอดความเสียหายได้รวมมูลค่ากว่า 18 ล้านบาท มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 42 ราย กระชังที่ได้รับความเสียหาย 972 กระชัง ปริมาณผลผลิตปลานิลที่เสียหายประมาณ 300 ตัน โดยทางสำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคามได้มีการสำรวจข้อมูลด้านการเลี้ยงปลานิลของเกษตรกรในพื้นที่พบว่า มีการเลี้ยงใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. การเลี้ยงแบบทำสัญญากับฟาร์มเอกชน
ทั้งนี้เกษตรกรจะต้องซื้อลูกพันธุ์และอาหารปลาจากฟาร์มเอกชน เมื่อผลผลิตได้ตามขนาดที่ตลาดต้องการ ฟาร์มเอกชนจะรับซื้อคืน ตามราคาของตลาดและฟาร์มเอกชนจะให้ราคาเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งมีเกษตรกรทำการเลี้ยงลักษณะเช่นนี้ จำนวนถึง 30 ราย และ 2. เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงอิสระ โดยเป็นการเลี้ยงแบบจัดซื้อลูกพันธุ์และอาหารปลา รวมถึงจัดหาตลาดด้วยตนเอง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 กรมประมงได้มอบหมายให้นายสมพร รุ่งกำเนิดวงศ์ ประมงจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม และตัวแทนฟาร์มเอกชน จำนวน 3 ราย ที่ทำสัญญากับผู้เลี้ยงปลาในกระชังลำน้ำชี จัดประชุมหารือกับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยมีการได้ชี้แจงแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ โดยเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) กับกรมประมง สามารถขอรับความช่วยเหลือผ่านทางหน่วยงานกรมประมงภายในจังหวัด ซึ่งจะได้รับพิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564
นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้ในเรื่องเกษตรพันธะสัญญา ตลอดจนได้มีการหารือถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือจากฟาร์มเอกชนที่ทำสัญญากับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ทั้งนี้ ตัวแทนฟาร์มเอกชนยินดีจะให้ความช่วยเหลือปัจจัยการผลิตด้านอาหาร
โดยจะให้เครดิตค่าอาหารปลาตลอดการเลี้ยงในรอบต่อไป ซึ่งผลปรากฏว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาพึงพอใจในการให้ความช่วยเหลือของฟาร์มเอกชนและขอบคุณหน่วยงานราชการที่เป็นสื่อกลางในการหารือในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม หลังสถานการณ์น้ำเข้าสู่สภาวะปกติ กรมประมงมอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคามเร่งดำเนินการสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือและชดเชยเยียวยาเกษตรกร ตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 และหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป