บัญชา สุขแก้ว
กรมประมง เดินหน้ายกระดับมาตรฐานสินค้าประมงไทยสู่ระดับสากล เผยผู้เพาะเลี้ยงน้ำกว่า 25,000 ฟาร์มรับได้รับมาตรฐานแล้ว พิ่มระบบการแจ้งเตือนเกษตรกรผ่าน SMS และเพิ่มช่องทางการติดต่อผ่าน Line Official Account เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัส COVID-19 จนได้รับรางวัล “หน่วยตรวจสอบรับรองสินค้าเกษตรและอาหารดีเด่น ประจำปี 2564”
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในห้วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้บริโภคทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพได้มาตรฐานกันมากขึ้น ซึ่งภาคการประมงของไทยก็เช่นกัน ปัจจุบันสินค้าประมงของไทย ได้รับความเชื่อมั่นจากประเทศคู่ค้านานาประเทศ เนื่องจากไทยมีการดำเนินการในเรื่องของระบบมาตรฐานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ (From Farm to Table) คือ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การเพาะเลี้ยง การแปรรูปในโรงงาน ไปจนถึงผู้บริโภค
ทั้งนี้กรมประมงได้ให้ความสำคัญในการตรวจรับรองมาตรฐานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และหน่วยงานที่ได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐานระบบคุณภาพสากล ISO/IEC 17065 ในการตรวจรับรองมาตรฐานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาตั้งแต่ปี 2556 เกษตรกร ผู้บริโภค และประเทศคู่ค้า สามารถมั่นใจได้ว่าการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐเป็นไปด้วยความเป็นกลาง โปร่งใส เป็นธรรม และถูกต้องตามหลักวิชาการ
ปัจจุบันมีฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมประมงไปแล้วกว่า 25,000 ฟาร์ม ประกอบด้วย
• มาตรฐาน GAP (Good Aquaculture Practices) ของกรมประมง คือ การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีเพื่อให้ได้ผลผลิตสัตว์น้ำที่มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด โดยกระบวนการผลิตต้องปลอดภัยกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
. มาตรฐาน CoC (Code of Conduct) ของกรมประมง คือ มาตรฐานที่เน้นด้านระบบการจัดการที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล
• มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) ที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรประกาศกำหนด เช่น มาตรฐานบังคับสำหรับการผลิตลูกุ้งขาวปลอดโรค (มกษ. 7432) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกษ. 9000) เพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอน
นอกจากนี้กรมประมงได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในโปรแกรมการรับรองมาตรฐานผ่านระบบออนไลน์ โดยเกษตรกรสามารถยื่นคำขอการรับรองผ่านเว็บไซต์ได้เอง และเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การรับคำขอ การตรวจประเมินฟาร์ม การตัดสินให้การรับรอง และการเผยแพร่ผลการรับรองผ่านทางเว็บไซต์ของกรมประมง
ล่าสุดในปี 2564 นี้ ได้มีการเพิ่มระบบการแจ้งเตือนเกษตรกรผ่าน SMS และเพิ่มช่องทางการติดต่อผ่าน Line Official Account เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัส COVID-19 และแนวทางในการดำเนินงานต่อไปตือกรมประมงจะร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในการออกใบรับรอง GAP แบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดระยะเวลาในการส่งมอบใบรับรองให้แก่เกษตรกร และป้องกันการปลอมแปลง รวมทั้งจะมีการถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไปสู่หน่วยรับรองของภาคเอกชนตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จากการดำเนินงานด้านการรับรองมาตรฐานที่เข้มข้น จนเป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภคในระดับสากล ทำให้ล่าสุด กรมประมงได้รับรางวัลระดับมาตรฐานสากล คือ รางวัล “หน่วยตรวจสอบรับรองสินค้าเกษตรและอาหารดีเด่น ประจำปี 2564” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของกรมประมงที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถและความพร้อมของกรมประมงในการเป็นผู้นำด้านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานของประเทศ และเป็นอีกก้าวหนึ่งแห่งความสำเร็จในการสร้างรากฐานแห่งความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหารให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศและประเทศคู่ค้าว่าสินค้าสัตว์น้ำที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมประมงผ่านการควบคุมระบบการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องสุขภาพผู้บริโภคและเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากมาตรฐานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแล้ว “การส่งเสริมการอนุรักษ์ประมงที่ยั่งยืน” ยังเป็นประเด็นที่กรมประมงได้ให้ความสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 ข้อ โดยเฉพาะ SDG เป้าหมายที่ 14 Life Below Water การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทะเลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG 14) จึงได้มีการ “ออกมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านยั่งยืน”
สำหรับรับรองมาตรฐานให้ชาวประมงพื้นบ้าน 2 ประเภทคือ ประเภททำการประมงและประเภทแปรรูปสัตว์น้ำ ให้กับกลุ่มที่ได้จดทะเบียนเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นและทำการประมงโดยเรือประมงที่จดทะเบียนตามกฎหมาย โดยมีมาตรฐานครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการจับสัตว์น้ำ การดูแลสัตว์น้ำหลังการจับ และการแปรรูปเพื่อยกระดับวิถีและสินค้าประมงพื้นบ้านของไทยให้มีความปลอดภัยและรับผิดชอบต่อสังคมก่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรประมง ตลอดจนเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดและสร้างคุณค่าให้กับสินค้าประมงพื้นบ้านให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค