กรมประมง…เร่งเพาะพันธุ์ปลา ‘ตะพัดเขียว’ คืนถิ่น ดีเดย์ปล่อย 200 ตัวคืนสู่เขื่อนเชี่ยวหลาน

  •  
  •  
  •  
  •  


    ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี และศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี ร่วมจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลา “ตะพัดเขียว” จำนวน 200 ตัว คืนสู่แหล่งอาศัยในธรรมชาติเดิม ณ หน่วยพิทักษ์ป่าคลองหยา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน ตำบลบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564 ซึ่งกิจกรรมนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

​    ทั้งนี้นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามโครงการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำประจำถิ่นและสัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ ของกรมประมง ซึ่งได้เล็งเห็นว่าปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำพื้นถิ่นหลายชนิดของไทยอยู่ในสภาวะถูกคุกคาม และบางชนิดมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์สูง โดยเฉพาะ “ปลาตะพัดเขียว”(Scleropages formosus) หรือปลาตะพัดสีเงินสายพันธุ์ไทย

    ปลาตะพัดเขียว ในอดีตเคยมีรายงานพบปลาชนิดนี้ในพื้นที่จังหวัดตราด จันทบุรี สตูล ยะลา และสุราษฎร์ธานี แต่ปัจจุบันพบเพียงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา แม่น้ำตาปี คลองสก และคลองแสง ซึ่งเป็นลำน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนรัชชประภาเท่านั้น โดยคนท้องถิ่นจะเรียกว่า “ปลาหางเข้”

     เนื่องจากมีรายงานการพบปลาตะพัดเขียวตามธรรมชาติน้อยมาก ประกอบกับเป็นปลาที่แพร่พันธุ์ค่อนข้างยาก มีอัตราการแพร่ขยายพันธุ์ในธรรมชาติค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ปลาตะพัดชนิดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์น้ำคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เป็นชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ระบุไว้ในบัญชีลำดับที่ 1 (CITES Appendix I)

​       ดังนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปลาตะพัดเขียว กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี จึงได้ดำเนินการเพาะขยายพันธุ์ปลาตะพัดเขียว เพื่อปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ อย่างต่อเนื่อง มาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว