กรมประมงทึ่งไอเดีย “ปลานิลฝากเลี้ยง” ภูมิปัญญาจากปราชญ์ชาวบ้านในจังหวัดนครนายก “สมชาย พุมมีดี” ที่เพาะลูกปลาแบบธรรมชาติ ปล่อยกระชังอวนพริกไทยไว้ในบ่อ เผยได้แนวคิดจากแม่ปลาใช้สัญชาตญาณหาที่ปลอดภัยให้กับลูกปลา ด้วยพ่นลูกปลาเข้าไปไว้ในกระชังเพื่อให้ลูกปลาปลอดภัยจากศัตรู จนได้ทีมา “ปลานิลฝากเลี้ยง” ระบุช่วยลดต้นทุนการผลิตสร้างรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ล่าสุดกรมประมงยกเป็นต้นแบบเป็นเกษตรกรต้นแบบ เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรรายอื่น
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมประมงได้มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมลดต้นทุนการผลิต ที่สอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในรูปแบบต่างๆ อาทิ โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ “น้ำ (ใจ) มา ชาวประชาเป็นสุข” การพัฒนาสูตรอาหารลดต้นทุนช่วยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น
มีศักดิ์ ภักดีคง
การเพาะพันธุ์ปลานิลฝากลูกในกระชังโดยวิธีการธรรมชาติ เป็นอีกวิธีการที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน โดยเกษตรกรท่านหนึ่งในจังหวัดนครนายก เป็นผู้ริเริ่มนำมาใช้ในการเพาะและอนุบาลลูกปลานิล สามารถช่วยลดต้นทุนการซื้อลูกพันธุ์ได้ ซึ่งกรมประมงได้เล็งเห็นว่าวิธีการดังกล่าวสามารถต่อยอดและเป็นประโยชน์กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลานิลรายอื่นๆ จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของกรมประมง โดยสำนักงานประมงจังหวัดนครนายก เข้าสังเกตการณ์เพื่อสานต่อ ในการศึกษา ทดลอง เพื่อให้ได้ลูกปลาจำนวนมากและมีคุณภาพ ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ด้านนายบุญส่ง ศิริมา ประมงจังหวัดนครนายก เปิดเผยว่า สำนักงานประมงจังหวัดนครนายก ได้ทราบข้อมูลจาก นายสมชาย พุมมีดี อายุ 65 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทับทิมในกระชังในแม่น้ำนครนายก เป็นสมาชิกองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นกลุ่มเลี้ยงปลาในกระชังเขื่อนขุนด่านปราการชล ปัจจุบันประกอบอาชีพทำการเกษตรแบบผสมผสาน เป็นผู้เลี้ยงปลาทับทิมในกระชังในแม่น้ำนครนายก เลี้ยงปลานิลและปลาดุกในบ่อดิน
ที่สำคัญคือเป็นผู้ค้นพบวิธีการเพาะพันธุ์ปลานิลแบบฝากลูก (ปลานิลฝากเลี้ยง) ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากวิถีชีวิตที่สัมผัสกับการเลี้ยงปลามาหลายปี ประกอบกับเป็นผู้ที่ชอบสังเกต ชอบลองทำสิ่งใหม่ๆ ชอบคิดวิเคราะห์ผลได้ผลเสีย โดยการคำนวณผลประกอบการจากการซื้อ ลูกปลานิลและปลาทับทิมมาปล่อยเลี้ยงในกระชัง ขนาด 30- 40 ตัว/กิโลกรัม ในราคาตัวละ 7 – 9 บาท เลยคิดว่าตนเองมีบ่อดินอยู่แล้ว ถ้าอนุบาลลูกปลาขนาดใบมะขาม ในกระชังให้ได้ปลาขนาดราคา 7-9 บาท จะสามารถลดต้นทุนได้หรือไม่
จากนั้นจึงย้ายกระชังที่ใช้เลี้ยงปลาในแม่น้ำส่วนหนึ่ง มาทดลองทำกระชังอนุบาลลูกปลา โดยเปลี่ยนกระชังจากอวนตาห่างเป็นกระชังอวนพริกไทย สำหรับการอนุบาลลูกปลานิล เนื่องจากกระชังอวนพริกไทยจะตาห่าง น้ำผ่านได้ดีและนุ่มกว่าอวนมุ้งเขียว เมื่ออนุบาลลูกปลาได้ขนาด ก็รวบรวมไปปล่อยเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำนครนายก และได้ปล่อยปลาบางส่วนออกจากกระชังลงเลี้ยงไว้ในบ่อดิน โดยที่ยังไม่ได้มีการรื้อกระชังขึ้นจากบ่อเนื่องจากต้องการใช้ในการอนุบาลลูกปลารุ่นต่อไป
เมื่อปลานิลที่ปล่อยเลี้ยงในบ่อดินโตขึ้นเรื่อย ๆ นายสมชายพบว่า กระชังที่ปล่อยทิ้งไว้มีลูกปลานิลเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงเกิดความสงสัยว่ามีลูกปลานิลเข้ามาอยู่ในกระชังได้อย่างไร จึงได้เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของปลานิลที่เลี้ยงไว้ในบ่อ จนพบว่า ในช่วงเช้ามืดจะมีปลานิลว่ายน้ำวนเวียนบริเวณกระชัง และแม่ปลานิลได้พ่นไข่หรือลูกปลาเข้าไปในกระชัง เพื่อป้องกันอันตรายจากศัตรูในบ่อ ที่จะมาทำร้ายลูกปลา ด้วยสัญชาตญาณของแม่ปลาต้องหาที่ปลอดภัยให้กับ ลูกปลา จึงพ่นลูกปลาเข้าไปไว้ในกระชังเพื่อให้ลูกปลาปลอดภัยจากศัตรู
จากการเฝ้าศึกษาพฤติกรรมปลานิลของนายสมชาย ที่ได้ทดลองเพาะพันธุ์ปลานิลในบ่อตนเองมานานกว่า 5 ปี จนเข้าใจลักษณะนิสัยของปลานิล จึงได้ดำเนินการผลิตลูกพันธุ์ปลานิลโดยวิธีธรรมชาติอย่างจริงจัง ซึ่งสามารถได้ผลผลิตลูกพันธุ์ปลานิลที่มีความแข็งแรง มีการเจริญเติบโตดีกว่าลูกปลาที่ซื้อมาเลี้ยงที่ขนาดเดียวกัน และมีอัตราการรอดสูง ถึง 80% โดยเกษตรกรที่มีบ่อดินเป็นของตนเอง สามารถนำวิธีการไปเพาะและอนุบาลปลานิลหรือปลาทับทิมโดย วิธีธรรมชาติได้เอง ซึ่งการรวบรวมลูกปลาทำได้ง่ายและใช้แรงงานไม่มาก
นายบุญส่ง บอกว่า วิธีนี้สามารถช่วยลดต้นทุนค่าลูกพันธุ์ปลาที่เลี้ยงในกระชังได้เป็นอย่างมาก ทางกรมประมงจึงได้นำความรู้ดังกล่าวไปศึกษา ทดลองเพิ่มเติมโดยทำการทดลองร่วมกับโรงเรียนทหารการสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก จังหวัดนครนายก จนพบว่า วิธีการเพาะพันธุ์ปลานิลโดยวิธีธรรมชาติ โดยการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลานิล หรือปลาทับทิมไว้รวมกับปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ซึ่งพบว่า วิธีการนี้สามารถผลิตลูกพันธุ์ปลาได้จริง ลูกปลามีความแข็งแรงเจริญเติบโตดี
นับเป็นอีกทางเลือกในการช่วยลดต้นทุนของเกษตรกร ที่สามารถดำเนินการเองได้ไม่ยาก ซึ่งเมื่อปีงบประมาณ 2563 สำนักงานประมงจังหวัดนครนายก ได้ตั้งที่ตรงนั้น ให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ด้านประมง เพื่อเป็นแนวทางให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลรายอื่นๆ
อย่างวไรก็ตาม ความสำเร็จของนายสมชายในครั้งนี้ ทางกรมประมงเห็นควรที่จะผลักดันให้ คุณลุงสมชาย พุมมีดี เป็นเกษตรกรต้นแบบในการถ่ายทอดความรู้ จากภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน ในการเพาะพันธุ์ปลานิลแบบฝากเลี้ยงในกระชังโดยวิธีการธรรมชาติ ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำวิธีการดังกล่าวไปต่อยอดในการปรับใช้ในการเพาะเลี้ยงปลานิลในพื้นที่อื่นๆ อีกต่อไป ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต และสร้างรายได้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน
หากเกษตรกรท่านใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัดนครนายก โทร. 037 311 024, 08 8278 6208