กรมประมง เร่งประชาสัมพันธ์รณรงค์ห้ามไม่ให้ใช้ “ใช้กระแสไฟฟ้าในการทำประมง” ชี้มีมีความผิดตามมาตรา 60 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไขมี อัตราโทษสูงปรับถึง 1 ล้านบาท ผู้สนับสนุนหรือผู้ได้รับผลตอบแทนจากการกระทำความผิดทางอาญาด้วย ระบุเหตุผลเป็นการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำทุกชนิดอย่างรุนแรงและเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 60 ได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมง เนื่องจากการทำการประมงด้วยกระแสไฟฟ้าเป็นลักษณะการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือ แบตเตอรี่ ผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟต่อกับอุปกรณ์ที่เป็นตะแกรงหรือเหล็กปล่อยกระแสไฟฟ้า จุ่มลงไปในน้ำที่เป็นที่จับสัตว์น้ำ เพื่อให้กระแสไฟฟ้าช๊อตทำอันตรายสัตว์น้ำแล้วเก็บเอาสัตว์น้ำนั้นมาใช้ประโยชน์ ส่งผลทำให้สัตว์น้ำทุกชนิดที่อยู่บริเวณนั้น และสัตว์น้ำวัยอ่อนขนาดเล็กที่ทนกระแสไฟฟ้าไม่ได้จะตาย หรือพิการ ผู้ที่ใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงจะเก็บเฉพาะสัตว์น้ำที่ต้องการมาใช้ประโยชน์เท่านั้น ทำให้เกิดการสูญเสีย และทำลายวงจรชีวิตสัตว์น้ำ การใช้กระแสไฟฟ้าจึงเป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างรุนแรง เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก
บัญชา สุขแก้ว
ดังนั้น กฎหมายจึงได้บัญญัติห้ามใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงโดยเด็ดขาด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้เน้นย้ำให้กรมประมงดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืนภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนเกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพและสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบข้อกฎหมายและความตระหนักในการดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำ
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสถิติผลคดีการจับกุมผู้กระทำผิดในการใช้กระแสไฟฟ้าการทำประมง ในปีที่ผ่าน พบคดีมีสูงถึง จำนวน 161 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 109 ราย โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำจืด และล่าสุดในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน พบมีผู้กระทำความผิดในคดีดังกล่าวแล้วกว่า 62 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 42 ราย ซึ่งผู้กระทำผิดลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงต้องระวางโทษมีอัตราการเปรียบเทียบปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 1 ล้านบาท หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
อีกทั้ง ผู้ที่ครอบครองสัตว์น้ำที่ได้จากการใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมง ไว้เพื่อการค้าต้องระวางโทษปรับ 10,000 บาท หรือ ปรับจำนวน 5 เท่า ของมูลค่าสัตว์น้ำที่มีไว้ในครอบครองแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า นอกจากนี้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 166 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ผู้สนับสนุนหรือผู้ได้รับผลตอบแทนจากการกระทำความผิด เช่น ผู้จัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ทำหรือประกอบอุปกรณ์ทำการประมงด้วยกระแสไฟฟ้า ก็เข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดและต้องได้รับโทษทางกฎหมายด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ได้มีความห่วงใยต่อพี่น้องชาวประมง ที่อาจจะกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งกฎหมายมีบทลงโทษที่สูง เนื่องจากวิธีการทำประมงด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง จึงได้สั่งการให้เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจถึงผลเสียและข้อกฎหมายให้กับ พี่น้องชาวประมงได้รับรู้และเข้าใจเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิด แต่หากยังพบผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดให้ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจัง…รองอธิบดีฯ กล่าว