กรมประมง คัดเลือก 4 ชุมชนประมงชายฝั่งอ่าวไทย – อันดามัน นำร่องเข้าโครงการ Fisherman’sVillage Resort โชว์ของดีของวิถีประมงท้องถิ่น ดึงเสน่ห์ความเป็นชุมชนประมง ทั้งวัฒนธรรมความเป็นอยู่ การทำอาชีพประมงพื้นบ้าน อาหารทะเลสดๆ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตพี่น้องชาวประมงให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจะปั้นเป็นโมเดลแหล่งเกษตรท่องเที่ยวในอนาคต
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินภารกิจต่างๆ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีดำริให้กรมประมงส่งเสริมกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านให้มีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น ในรูปแบบของการนำผลผลิตสัตว์น้ำที่จับมาได้มาสู่ผู้บริโภคโดยตรง โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวพักผ่อนในแหล่งชุมชนประมงพื้นบ้าน
บัญชา สุขแก้ว
กรมประมงจึงได้จัดทำโครงการ Fisherman ‘sVillageResort ขึ้น เพื่อดึงเอาศักยภาพของชุมชนประมงพื้นบ้านใน 22 จังหวัดชายทะเล และชุมชนประมงในแหล่งน้ำจืด ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่ใกล้ตัวทั้งอาหารทะเลที่สดใหม่ แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ วิถีการทำประมง รวมไปถึงวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเสน่ห์ที่ผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวอยากสัมผัสทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ซื้อหาและรับประทานอาหารทะเลสดๆ ราคาถูกไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งยังช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกจากรายได้จากการทำประมงเพียงอย่างเดียวด้วย โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวประมงในชุมชน บนฐานทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ ซึ่งถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจระดับฐานราก สร้างธุรกิจชุมชน จากการจำหน่ายอาหารทะเลให้แก่นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวจะช่วยทำให้เกิดการจ้างงานสร้างอาชีพในชุมชนเกิดการกระจายรายได้ อีกทั้งยังจะสร้างให้เป็นศูนย์เรียนรู้โมเดลเกษตรท่องเที่ยว (Agricultural Tour) แก่ชุมชนประมงแห่งอื่นๆ ต่อไป และอาจมีส่วนช่วยให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนมีงานทำในถิ่นฐานของตน
ล่าสุด กรมประมงได้คัดเลือกหมู่บ้านชุมชนชาวประมงชายฝั่งทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทย และ ฝั่งทะเลอันดามัน รวมจำนวน 4 แห่งนำร่องเข้าร่วมโครงการ Fisherman’sVillage Resort แล้ว ประกอบด้วย 1.ชุมชนประมงชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จากจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 1 แห่ง คือ ชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวปากพนัง ซึ่งประกอบด้วย บริเวณบ้านปากพูนบ้านท่าซัก (ปากพญา)อำเภอเมือง และบ้านแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง ซึ่งชุมชนทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บริเวณอ่าวปากพนัง จึงมีจุดเด่นในวิถีการทำประมงแบบยั่งยืน
2.ชุมชนประมงชายฝั่งทะเลอันดามัน จากจังหวัดกระบี่ และ พังงา จำนวน 3 แห่ง ดังนี้ คือชุมชนประมงต้นแบบบ้านไหนหนัง หมู่ที่ 3 ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ที่น่าเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส นอกจากนี้ ที่ชุมชนบ้านไหนหนัง ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น หุบผาปีศาจ ภาพเขียนโบราณ หน้าต่างมนุษย์โบราณ ณ เขากาโรส แหล่งแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง แหล่งวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้ง ไร่นาสวนผสม ฯลฯ ที่น่าสนใจอีกด้วย
ชุมชนบ้านโคกไคร หมู่ที่ 1 ตำบลมะรุ่ย อำเภอทับปุด จังหวัดพังงาซึ่งวิถีชีวิตของชุมชนชาวประมง บ้านโคกไคร จะมีการทำประมงเพื่อยังชีพ มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวพังงาด้วย โดยชาวประมงบ้านโคกไครมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเกษตรกรชั้นนำศูนย์กลางการแปรรูปสัตว์น้ำและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรนำภูมิปัญญาและของดีในท้องถิ่นมาแปรรูปสร้างรายได้ให้กับชุมชน มีผลิตภัณฑ์เด่น คือ “กุ้งย่าง” ซึ่งถือเป็นสินค้าโอทอปของจังหวัดพังงา มีวิถีประมงเชิงอนุรักษ์ ด้วยการทำธนาคารปูม้า และธนาคารหอยนางรมซึ่งพื้นที่บ้านโคกไคร เป็นต้น
ชุมชนบ้านบางพัฒน์ หมู่ที่ 8 ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เป็นชุมชนบนเกาะในอ่าวพังงา ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ มีร้านและแหล่งอาหารทะเลสด วิถีการทำประมงที่เก่าแก่ กิจกรรมทางการประมง เช่น ปล่อยปู (ธนาคารปู) การตกปลา เดินหาหอย ปลูกป่าชายเลน ฯลฯ และมีโฮมสเตย์สำหรับบริการให้แก่นักท่องเที่ยวที่นิยมชมชอบท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์อีกด้วย
จากนี้ กรมประมงเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณในการบริหารจัดการชุมชนประมงที่เข้าร่วมโครงการ Fisherman’sVillage Resort เพื่อให้ชุมชนได้สามารถนำไปพัฒนาชุมชนให้มีระบบและมีการจัดการชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนประมงที่มีศักยภาพที่สมบูรณ์และกลายเป็นแหล่งสร้างอาชีพและรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2564 จะดึงศักยภาพของชุมชนประมงท้องถิ่นที่มีอยู่และนำมาพัฒนาให้สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ในทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล และจะขยายไปยังชุมชนประมงน้ำจืดอีก 4 แห่ง ด้วยในอนาคต