กรมประมง โชว์ความสำเร็จ “ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” จัดงาน “หว่านแห จับปลา หรรษา บุรีรัมย์” สุดคึกคัก

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมง โชว์ความสำเร็จโครงการ “ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนให้เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานรากเลี้ยงชุมชนอย่างยั่งยืน จนสามารสร้างรายได้จากโครงการนี้เกือบ 4 แสนบาท และ ฯ ทั้งสิ้น 392,764 บาท และคว้ารางวัลสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม 2 ปีซ้อน ล่าสุดมีการจัดงาน “หว่านแห จับปลา หรรษา บุรีรัมย์” ปีที่ 3 มีชาวบ้านให้ความสนใจอย่างคึกคัก

     วันที่ 31 ตุลาคม 2563 กรมประมงร่วมกับจังหวัดบุรีรัมย์ คณะกรรมการบริหารจัดการแหล่งน้ำหนองซับสมบูรณ์ และองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งจังหัน จัดงาน “หว่านแห จับปลา หรรษา บุรีรัมย์” ปีที่ 3 ณ บริเวณหนองซับสมบูรณ์ หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งจังหัน อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อโชว์ผลสำเร็จจากโครงการ“ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” ซึ่งกรมประมงส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนให้เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานรากเลี้ยงชุมชนอย่างยั่งยืน จนคว้ารางวัลเลิศรัฐ 2 ปีซ้อน ซึ่งในโอกาสนี้ นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ได้ให้เกียรติเป็นประธานการเปิดงาน โดยมีชาวบ้านในพื้นที่บริเวณหนองซับสมบูรณ์ให้การต้อนรับ

                                                    มีศักดิ์ ภักดีคง

      นายมีศักดิ์ กล่าวว่า โครงการ “ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่ขับเคลื่อนโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความมุ่งหวังที่จะให้ชุมชนได้มีผลผลิตสัตว์น้ำเพียงพอต่อการบริโภค สามารถสร้างรายได้-ลดรายจ่ายในครัวเรือนให้กับประชาชน รวมทั้งชุมชนมีศักยภาพสามารถพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนให้เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชนได้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยใช้หลักการ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์” 

     ที่ผ่านมากรมประมงได้มุ่งผลักดันโครงการดังกล่าวฯ จนประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันมีการจับผลผลิตสัตว์น้ำขึ้นใช้ประโยชน์กว่า 13 ตัน มีรายได้จากโครงการฯ ทั้งสิ้น 392,764 บาท และโครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมงบ้านซับสมบูรณ์ จังหวัดบุรีรัมย์  จึงเป็นต้นแบบ “ซับสมบูรณ์โมเดล” จนสามารถคว้ารางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ได้ถึง 2 รางวัล ในระยะเวลา 2 ปีซ้อน คือ รางวัลเลิศรัฐ ประจำปีงบประมาณ 2561 สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม“ระดับดี” และรางวัลเลิศรัฐประจำปี พ.ศ. 2562 สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ (Engaged Citizen) “ระดับดีเด่น” 

     นอกจากนี้ ยังมีผลสำเร็จของโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมหนองทานตะวัน หมู่ที่ 9ตำบล
หนองเต็งอำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการฯ ในปี พ.ศ.2563 โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารโครงการฯ จำนวน 16 คน มีนายเฉลิม  แก้รัมย์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งชุมชนได้ร่วมกันกำหนดกฎกติกาเพื่อดูแลบริหารจัดการแหล่งน้ำ และมีการระดมหุ้นเพื่อตั้งกองทุน มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ แล้วจำนวน 94 คน มีผู้ถือหุ้นจำนวน 154 หุ้น มีเงินในกองทุนรวมทั้งสิ้น 15,400 บาท โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงจังหวัดบุรีรัมย์และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม กรมประมงให้คำแนะนำคอยเป็นพี่เลี้ยงด้านวิชาการถ่ายทอดองค์ความรู้ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนพร้อมร่วมกับชุมชนเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำที่ปล่อยอย่างต่อเนื่อง และยังได้ทำการศึกษาดูงานจากแหล่งน้ำหนองซับสมบูรณ์ นำความรู้มาประยุกต์ใช้จนเกิดรายได้ตั้งแต่ในปีแรกที่ดำเนินการ เป็นเงิน 21,917 บาท

     ด้านนายสุริยันต์ วรรณวงษ์ ประมงจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดงาน “หว่านแห จับปลา หรรษา บุรีรัมย์” ปีที่ 3 ถือเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของโครงการ “ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” ซึ่งในพื้นที่หนองซับสมบูรณ์ หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งจังหัน อำเภอโนนสุวรรณจังหวัดบุรีรัมย์ ได้กำหนดจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการฯ เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การจัดงานปี 2563 จึงเลื่อนมาจัดในเดือนตุลาคมนี้ โดยทำการเปิดขายบัตรในราคา 500 บาท ให้กับสมาชิกและประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อมาร่วมจับสัตว์น้ำในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งในปี 2563 นี้ มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก

     ทั้งนี้ รายได้ที่ได้รับ จะนำเข้ากองทุนโครงการฯ และจัดสรรการใช้ประโยชน์ตามกฎระเบียบของโครงการฯ ที่ชุมชนร่วมกันกำหนดขึ้น  โดยจะจัดสรรผลประโยชน์คืนแก่สมาชิกโครงการฯ และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในการบริการจัดการแหล่งน้ำ เพื่อเป็นต้นทุนสวัสดิการและพัฒนาชุมชนต่อไป