สกสว.อุบลราชธานี จับมือชาวบ้านริมฝั่งโขง พลิกวิกฤต”พาข้าวผู้ไท”ให้เป็นโอกาส

  •  
  •  
  •  
  •  

ชาวบ้านใช้วิจัยตำรับอาหาร “พาข้าวผู้ไท” นำทางสู้วิกฤตแม่น้ำโขง

 8 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปี 2553 ชาวบ้านในเขตพื้นที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มสังเกตพบความผิดปกติของแม่น้ำโขง โดยพบว่าแม่น้ำโขงมีการขึ้นลงผิดไปจากธรรมชาติ ส่งผลกระทบกับชีวิตของชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงหาปลาในแม่น้ำโขง ผลกระทบจากการทำน้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาตินั้นทำให้ปลาไม่ขยายพันธุ์ และตลิ่งริมแม่น้ำโขงเริ่มทรุด ชาวบ้านที่นี่เชื่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไป เกิดจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขงทั้งทางฝั่งประเทศจีนและประเทศลาว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันลุกขึ้นมาทำงานวิจัย “การปรับตัวด้านเศรษฐกิจของชุมชนภายใต้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงของลุ่มน้ำโขง”โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

หนึ่งในการปรับตัวของชาวบ้านคือการริเริ่มฟื้นฟู ตำรับอาหารพาข้าวผู้ไทย นายนนทชัย โคตรอ่อน เปิดเผยว่า หลังจากที่ชาวบ้าน ต.โคกก่ง อ.ชานุมาน จ.อุบลราชธานี ประสบปัญหาจากวิกฤตแม่น้ำโขง ทำให้ชาวบ้านที่นี่เริ่มคิดปรับตัว โดยการร่วมกันทำงานวิจัย จนกระทั่งพบว่า ตำรับอาหารพาข้าวผู้ไท จะเป็นหนึ่งในทางรอดกับการต่อสู้กัลวิกฤตนี้ จึงร่วมกันหาแนวทางการเพิ่มมูลค่าผลผลิตในพื้นที่ โดยอาศัยต้นทุนทางทรัพยากรที่มีในชุมชน นำมาประยุกต์เป็นตำรับเมนูอาหาร เกิดเป็นตำรับอาหาร พาข้าวผู้ไท โดยหนึ่งตำรับจะประกอบด้วยอาหารหลัก คือ อาหารปิ้ง / ลาบหรือก้อย /ต้ม,แกง,อ่อม /คั่ว / หมก / นึ่ง / ป่น / ลวน / ซั่ว / แจ่ว / ตำ / ของหวาน ส่วนวัตถุดิบนั้นจะหมุนเวียนไปตามฤดูกาลที่หาได้จากชุมชน โดยสามารถเพิ่มมูลค่าให้ตำรับอาหารได้ถึง 500 บาท เป็นอาชีพทางเลือกสำหรับชาวบ้านนอกเหนือจากการทำประมง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาต่อการสร้างมูลค่าด้านกลไกทางการตลาด

รศ.ดร. เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สกสว. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ชาวบ้านริมฝั่งโขงต่างต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ให้กับชาวบ้าน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ชาวบ้านมีความรู้เพื่อต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างเช่น เมื่อไม่สามารถทำกินในแม่น้ำโขง ชาวบ้านต้องหันมาปรับเปลี่ยนวิธีทำกินโดยใช้ทุนทางทรัพยากร ทุนวัฒนธรรม และทุนจากองค์ความรู้ก็จะทำให้ชาวบ้านสามารถต่อสู้กับวิกฤตแม่น้ำโขง