กรมประมงจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจเพื่อนำสู่การผลิตแบบแปลงใหญ่ (เปิดบ้านงานเด่น กพจ.) โดยระดมนักวิชาการจากทั่วประเทศมาถ่ายทอดสุดยอดผลงานวิจัยโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด อีกทั้งยังมีการเสวนา เรื่อง “ทิศทางการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ” จากหน่วยงานภาครัฐและ เอกชน การจัดแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ตลอดจนมีผลิตภัณท์ประมงจาก 4 ภูมิภาคที่หาซื้อได้ยากมาจำหน่ายในงานนี้นายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานว่า งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ เพื่อนำสู่การผลิตแบบแปลงใหญ่ (เปิดบ้านงานเด่น กพจ.) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 28 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุมอานนท์ และบริเวณโดยรอบอาคารโฮมเมอร์ สกอตต์ สวิงเกิล ภายในกรมประมง โดยกรมประมงมีภารกิจหลักในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดโดย มีหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและพรรณไม้น้ำจืด การจัดการฟาร์ม การส่งเสริมอาชีพตลอดจนการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเพื่อพัฒนาแหล่งผลิตและเพิ่มประสิทธิ ภาพการผลิตด้านการเกษตรแบบครบวงจร กรมประมงจึงมีแนวคิดในการเผยแพร่งานวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ โดยการเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เกษตรกร และประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงแหล่งข้อมูล สามารถนำองค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ๆ ไปพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอย่างยั่งยืน
ภายในงาน กรมประมงได้ระดมนักวิชาการจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดทั่วประเทศ 42 ศูนย์วิจัยฯ และอีก 6 กลุ่มวิจัยฯ ภายใต้สังกัดกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง นำมาจัดนิทรรศการและเปิดเวทีบรรยายความรู้กว่า 18 หัวข้อได้แก่ 1. มารู้จักปลากับกาสะลอง 2. นวัตกรรมเพื่อลดตุ้นทุนการผลิตลูกพันธุ์ปลานิลคุณภาพ 3. การใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด 4. จากดินสู่ดาว ปลาตะเพียนขาว 4.0 5. มาเบิ่งนำกัน…แคมป์ปลาเอิน…เพื่อการอนุรักษ์ 6. ดาวรุ่ง “กุ้งก้ามกราม” สัตว์น้ำเขต 6 (ขอนแก่น) 7. โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ในปีงบประมาณ 2559 – 2562 8. กุ้งสมเด็จ 9. พันธุ์ปลาน้ำจืดที่เพาะพันธุ์ได้ยาก 10. ไข่มุกน้ำจืด อัญมณีมีชีวิต 11. แลปลาหลังบ้าน อาหารปลอดภัย ลดต้นทุนสนับสนุนการแปรรูป มุ่งสู่ตลาดออนไลน์ รายได้จังฮู้ 12. ปลากดเหลือง จากอาหารพื้นบ้าน สู่การพัฒนาเป็นปลาเศรษฐกิจในชายแดนใต้ 13. ยกระดับงานวิจัย กพจ. สู่ความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 14. ต้นแบบความสำเร็จ แปลงใหญ่ สัตว์น้ำจืด 4.0 15. ธนาคารสัตว์น้ำในแหล่งน้ำชุมชน มุ่งสู่ความมั่นคงทางอาหาร 16. สัตว์น้ำควบคุม…คุณรู้หรือยัง 17. เกษตรอินทรีย์ วิถีชาวบ้าน 18. มิติใหม่ของการนำเสนอผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำเพื่อการส่งออกสู่ตลาดโลก เป็นต้นนอกจากนี้ยังมีการจัดเสวนาเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ”จากหน่วยงานภาครัฐโดยผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หน่วยงานเอกชนโดยคณะกรรมการการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย และสมาคมการค้าส่ง – ปลีกไทย ตลอดจน ได้รวบรวมผลิตภัณฑ์ประมงของเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรที่มาจาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ นำมาจัดจำหน่าย ในงานดังกล่าวด้วย อาทิ เนื้อปลาสเตอเจียนสดหั่นชิ้น ปลาเรนโบว์เทราต์สด ปลาเรนโบว์เทราต์รมควันไข่ปลาสเตอเจียนคาร์เวีย ปลากดหลวงอบชานอ้อย ไอศครีมคาร์เวีย น้ำพริกปลานิล ข้าวเกรียบหนังปลานิล ปลาส้มปลาเทโพ ปลาส้มปลาสร้อยขาว ไส้อั่วปลานิล ปลานิลจี๊ดจ๊าด กุ้งก้ามกราม แกงส้มปลากดเหลือง ปลาสลิดดอนนาแดดเดียว ปลาดุกร้า ลูกชิ้นจระเข้ และสินค้าอื่นๆอีกมากมายที่นำมาจำหน่ายในงานรองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงหวังว่าผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านให้สามารถนำข้อมูล องค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ๆ ไปต่อยอดในการปฎิบัติงานตลอดจนการพัฒนาอาชีพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับยุคเกษตร 4.0