บัญชา สุขแก้ว
แรงงานต่างด้าวภาคประมงได้เฮ !! ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีครั้งล่าสุดมีผลบังคับใช้แล้ว จากนี้ไม่ต้องนำเรือกลับเข้าฝั่งแล้ว ใบอนุญาตใหม่สามารถทำงานได้เป็นปี จากเดิมปีละ 2 ครั้ง หวังจะได้แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ทั้งระบบ
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงให้ความสำคัญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ทำงานบนเรือประมงมาอย่างต่อเนื่อง เพราะหากแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม จะช่วยให้ผู้ประกอบการประมงสามารถทำประมงได้อย่างไม่ติดขัด เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ และยังเป็นการช่วยป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมาย สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันใช้อำนาจตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ขึ้นทะเบียนแรงงานที่ทำงานบนเรือประมง
โดยมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2568 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 ให้แรงงานสามารถมาขออนุญาตทำงานได้ตลอดทั้งปี จากเดิมปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 เดือน และการผ่อนปรนเอกสารบางรายการที่เป็นอุปสรรคในการขอรับหนังสือคนประจำเรือให้สะดวกและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
ที่สำคัญ จากสถานการณ์ที่แรงงานกลุ่มที่มีใบอนุญาตทำงาน (Work permit) จากกรมการจัดหางาน ใบอนุญาตจะหมดอายุในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 จำนวนกว่า 30,000 ราย ทั่วประเทศ กรมประมงได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย เสนอคณะรัฐมนตรี โดยเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการต่ออายุใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวในลักษณะ MOU ออกไปอีก 6 เดือน ทำให้แรงงานในเรือประมงทั้งหมดสามารถทำงานต่อไปได้อย่างราบรื่น
“กรมประมงมีมาตรการรองรับแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในเรือประมงอย่างรัดกุม แรงงานได้รับการคุ้มครอง มีสวัสดิการและสวัสดิภาพตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีโครงการพัฒนาระบบ “Smart Seabook” เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดทำหนังสือคนประจำเรือ ตรวจสอบประวัติแรงงาน ลดภาระและระยะเวลาของชาวประมงให้สามารถยื่นเอกสารแบบ One Stop Service ที่สามารถเชื่อมโยง และสืบค้นข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการจัดหางาน กระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้ชาวประมงสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน และแรงงานได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานระหว่างประเทศ อีกทั้ง ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” .อธิบดีกรมประมงกล่าว