กรมประมงประกาศ “ปิดอ่าวไทย” 3 เดือนดีเดย์ 15 ก.พ.นี้ คุ้มครองฤดูปลามีไข่ 3 จังหวัด ฝ่าฝืนปรับสูงสุดถึง 30 ล้านบาท

  •  
  •  
  •  
  •  

เกรมประมงประกาศ “ปิดอ่าวไทย” 3 เดือนดีเดย์ 15 กุมภาพันธ์ 2568.นี้ คุ้มครองฤดูปลามีไข่ 3 จังหวัดตั้งประจวบคีรีขันธุ์ลงไปถึงชุมพร และสุราษฎร์ฯคุ้มครองฤดูปลามีไข่เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน เผยหากฝ่ฝืนจะมีความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาทยันถึง 30 ล้านบาท

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 กรมประมงจัดพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2568 (ปิดอ่าวไทย) ณ บริเวณท่าเทียบเรือประมงชุมพร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร พร้อมประกาศใช้มาตรการฉบับใหม่ จำนวน 4 ฉบับ โดยยังคง 2 ช่วงเวลาต่อเนื่องกันช่วงที่ 1 : วันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค. กำหนดมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพิธีปล่อยขบวนเรือตรวจการกรมประมง เพื่อออกปฏิบัติการในช่วงประกาศปิดอ่าว โดยมี นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และมี นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

                                                                                  อัครา พรหมเผ่า

นายอัครา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมประมงเตรียมประกาศ “ปิดอ่าวไทย” ใน 2 ช่วงเวลาต่อเนื่องกัน ได้แก่ ช่วงที่ 1 : วันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค. 2568 กำหนดมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเพิ่มเติมรายละเอียดการอนุญาตให้ใช้เครื่องมือประมงบางชนิด และช่วงที่ 2 : วันที่ 16 พ.ค. – 14 มิ.ย. 2568 กำหนดมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้งได้ออกประกาศกรมประมงเพิ่มเติม จำนวน 4 ฉบับ เพื่อให้เกิดความชัดเจนครอบคลุมรายละเอียดด้านเครื่องมือและอุปกรณ์การทำประมง ตลอดจนมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1) ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2568  ลงวันที่ 22 มกราคม 2568,  2) ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2568 ลงวันที่ 22 มกราคม 2568,  3) ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568,และ  4) ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 30 ล้านบาท โดยขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย

สำหรับมาตรการ “ปิดอ่าวไทย” เป็นมาตรการสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ และการบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืน ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้ร่วมบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงพี่น้องชาวประมงในพื้นที่ที่ให้ความร่วมมืออย่างดีมาโดยตลอด ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับปรุงมาตรการในครั้งนี้จะช่วยคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ ให้ได้มีโอกาสผสมพันธุ์ วางไข่ และสร้างประชากรสัตว์น้ำรุ่นใหม่ขึ้นมาหมุนเวียนในระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืน

ในโอกาสนี้ได้ร่วมพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และพิธีปล่อยขบวนเรือตรวจการประมงจำนวน 14 ลำ เพื่อออกปฏิบัติหน้าที่ในช่วงประกาศใช้มาตรการดังกล่าว อีกทั้งได้มอบแผ่นป้ายเงินอุดหนุนโครงสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการประมง ประจำปี 2568 ให้แก่องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตจังหวัดชุมพร จำนวนชุมชนละ 100,000 บาท และร่วมกันปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ประกอบด้วย กุ้งแชบ๊วย จำนวน 300,000 ตัว และปลากระบอก จำนวน 2,000 ตัว รวม 302,000 ตัว ลงสู่ทะเลชุมพรเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป

ด้านนายบัญชา  สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า มาตรการ “ปิดอ่าวไทย” เป็นมาตรการสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในฝั่งทะเลอ่าวไทย มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญด้วย

                                                                                          บัญชา  สุขแก้ว

ในปีนี้ กรมประมงยังดำเนินมาตรการปิดอ่าวไทยในช่วงเวลาและพื้นที่เดิม แต่มีการปรับปรุงข้อกำหนดของเครื่องมือประมงบางชนิด เพื่อให้สอดคล้องกับการเคลื่อนที่และวงจรชีวิตของปลาทู โดยผลการสำรวจพื้นที่อ่าวไทยตอนกลางเขตประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ในช่วงเวลา 15 ก.พ. – 15 พ.ค. พบพ่อแม่พันธุ์ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศและพร้อมผสมพันธุ์ มากกว่าร้อยละ 80 ในขณะที่ผลการสำรวจเขตทะเลชายฝั่งตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และในเขตต่อเนื่อง ในช่วงเวลา 16 พ.ค. – 14 มิ.ย. พบลูกปลาวัยอ่อนเจริญเติบโตเลี้ยงตัวบริเวณชายฝั่ง  และพบลูกปลาขนาดเล็ก เดินทางเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยรูปตัว ก เพื่อเจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์

ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่เสียสละการทำประมงบางส่วนเพื่อร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลไทยให้การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอดมา และขอให้ระมัดระวังการทำประมงโดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือและวิธีทำการประมงที่ประกาศให้ใช้ได้เท่านั้น ห้ามใช้เครื่องมืออื่น ๆ โดยเด็ดขาด เนื่องหากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 30 ล้านบาท