กรมประมง หนุนพลิกบ่อกุ้งร้างเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 5 ชนิด ติดเทรนด์ตลาด หวังพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการพัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้

  •  
  •  
  •  
  •  
กรมประมง..เดินหน้าส่งเสริมให้ฟื้นฟูบ่อกุ้งร้างในเขตพื้นที่ 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล สู่ทางเลือกใหม่ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด นำร่อง 5 ชนิดสินค้า “ปูทะเล-ปลิงขาว-ปลากะพงแดง-ปลากระบอกดำ-หอยแครง” ตามศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงกุ้งทะเล  เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามแนวคิด “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน”
นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า  อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลเป็นหนึ่งในภาคการเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน แต่เกษตรกรบางรายประสบปัญหาด้านการเลี้ยงจำเป็นต้องเลิกกิจการและปล่อยบ่อกุ้งทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่เพื่อดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้เพิ่มขึ้น นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง จึงได้สนับสนุนให้มีการฟื้นฟูบ่อกุ้งร้างในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล 22 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยแนวคิดการปรับเปลี่ยนอาชีพสู่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดตามศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการพัฒนาอาชีพให้เกิดความยั่งยืนและสร้างรายได้ที่มั่นคงต่อไป
                                                             ฐิติพร หลาวประเสริฐ 
สำหรับสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่กรมประมงมุ่งส่งเสริม มีจำนวน 5 ชนิด ประกอบด้วย ปูทะเล ปลิงขาว ปลากะพงแดง ปลากระบอกดำ และหอยแครง ซึ่งกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง ได้ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ และมีองค์ความรู้พร้อมที่จะขยายผลไปสู่เกษตรกรด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี ควบคู่กับการควบคุมต้นทุนผลผลิตรวมถึงการใช้แนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้แก่เกษตรกรที่สนใจในการปรับเปลี่ยนอาชีพในพื้นที่เป้าหมาย 22 จังหวัด
รองอธิบดีกรมประมง  กล่าวต่อในรายละเอียดถึงศักยภาพของแต่ละชนิดสัตว์น้ำ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ • ปูทะเล เป็นสัตว์น้ำมีราคาจำหน่ายสูงถึงกิโลกรัมละ 200 – 500 บาท ตลาดมีความต้องการสูง และใช้เงินลงทุนในการเพาะเลี้ยงไม่มาก มีความเสี่ยงน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงกุ้งทะเล  เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตปูทะเลขนาดตลาดได้เป็นรอบการผลิตในช่วงระยะสั้นเพียง 3-5 เดือน หรือทยอยเก็บเกี่ยวขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ราคาจำหน่ายที่สูง และจากนั้นวางแผนเก็บเกี่ยวหมดบ่อเพื่อเลี้ยงปูในรุ่นถัดไป โดยเฉพาะช่วงเทศกาลจะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้สูง นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายช่องทางการจำหน่ายได้อย่างกว้างขวาง
• ปลิงขาว เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนิดใหม่ของไทย มีศักยภาพในการเลี้ยงได้ในบ่อดิน โดยปลิงทะเลสด ขนาดน้ำหนัก 400 – 500 กรัม/ตัว ราคา 500 บาท/กิโลกรัม ส่วนปลิงทะเลตากแห้งมีราคาจำหน่ายสูงถึง 1,000 – 7,000 บาท/กิโลกรัม เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ  • ปลากะพงแดง เป็นปลาที่มีรสชาติดีได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถนำไปแปรรูปได้ทั้งแบบปรุงสุก และแบบสด เช่น ซาซิมิ ราคาจำหน่ายสูงกว่ากิโลกรัมละ 200 บาท การเพาะเลี้ยง
• ปลากะพงแดงจึงเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและตอบสนองความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี • ปลากระบอกดำ เป็นปลาเนื้อขาวที่มีรสชาติดี และได้รับความนิยมนำมาบริโภคในหลากหลายเมนู ราคาจำหน่าย 150 – 200 บาท/กิโลกรัม ทำให้เป็นปลาที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อีกหนึ่งชนิด
• หอยแครง หอยแครงเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมในการบริโภคอย่างแพร่หลาย มีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการนิยมรับประทานจากร้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยวด้วย ถึงแม้จะเป็นเมนูอาหารที่มีราคาค่อนข้างสูง เนื่องด้วยหารับประทานค่อนข้างยาก หากเกษตรกรมีการเลี้ยงหอยแครงที่มีคุณภาพสด และได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ ก็จะส่งผลให้สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง หอยแครงจึงเป็นสัตว์น้ำที่มีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ในระยะยาว
นางฐิติพร  กล่าวอีกว่า การพัฒนาศักยภาพบ่อกุ้งที่ถูกปล่อยทิ้งไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่เหมาะสมกับพื้นที่ จะเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนอาชีพของเกษตรกรได้  ซึ่งกรมประมงมีความพร้อมนำความรู้ตามหลักวิชาการของงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จขยายผลเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรที่ประสบปัยหาการเลี้ยงกุ้งทะเลให้มีอาชีพใหม่ที่มั่นคง และยังเป็นการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบยั่งยืน ผ่านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ตลาดต้องการ สนับสนุนการสร้างรายได้และลดความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดี และเชื่อมั่นว่าจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง เบอร์โทรศัพท์ 02 579 2422