ประมงเพชรบุรี ผนึกซีพีเอฟ เปิดตัว “กองทุนปลากะพง” ปราบปลาหมอคางดำ

  •  
  •  
  •  
  •  

สำนักงานประมงจังหวัดเพชรบุรี ร่วมมือกับกลุ่มเกษตรกรตำบลน้ำเค็ม อำเภอเขาย้อย จัดตั้ง “กองทุนปลากะพง” ขึ้นเพื่อให้เกษตรกรสามารถมีปลานักล่าเพื่อจัดการปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงกึ่งธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น คิกออฟสนับสนุนลูกพันธุ์ปลากะพงขาวจำนวน 5,000 ตัวแก่เกษตรกร 24 ราย

นายประจวบ เจี้ยงยี่ ประมงจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากความต้องการของพี่น้องเกษตรกรในการจัดการปลาหมอคางดำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประมงเพชรบุรีร่วมมือกับกลุ่มเกษตรกรตำบลเขาย้อย จัดตั้ง “กองทุนปลากะพง” ช่วยให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขาย้อยมีเงินทุนหมุนเวียนในการจัดหาปลานักล่า เริ่มต้นจากเกษตรกร 24 ราย และจะขยายผลไปให้เกษตรกรรายอื่นต่อไป โดยมีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุนลูกพันธุ์ปลากะพงเป็นทุนตั้งต้นสำหรับการเปิดตัวโครงการครั้งนี้

“กองทุนปลากะพง เกษตรกรรุ่นแรกนำปลานักล่าที่เลี้ยงเพื่อเป็นปลานักล่าในบ่อมาจำหน่ายเพื่อนำเงินมาต่อยอดเป็นกองทุนหมุนเวียน ใช้ซื้อปลานักล่าขนาดเล็กสำหรับนำไปปล่อยในบ่อของเกษตรกรรายอื่นๆ ในกลุ่มต่อไป เพื่อให้เกษตรกรได้มีผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดีขึ้น นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถฟื้นฟูอาชีพและรักษาสมดุลระบบนิเวศในพื้นที่อย่างยั่งยืน” นายประจวบกล่าว

ประมงเพชรบุรี ดำเนินโครงการ “กองทุนปลากะพง” เพื่อแก้ปัญหาปลาหมอคางดำแบบครบวงจร โดยดำเนินการควบคู่กับการควบคุมปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ อาทิ กิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” การปล่อยปลานักล่า การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำปลาร้าหมอคางดำ การทำน้ำปลาหับเผย ที่ประมงเพชรบุรีตั้งเป้าผลักดันให้เป็นสินค้าประจำจังหวัดต่อไป ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร เศรษฐกิจของชุมชน รวมถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศ

ด้าน นางกาญจนา โชติช่วง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตำบลบางเค็ม กล่าวว่า พันธุ์ปลากะพงขาวที่ได้รับการสนับสนุนจำนวน 5,000 ตัวจะแจกจ่ายให้เกษตรกรรายละประมาณ 200-220 ตัว สำหรับนำไปปล่อยในบ่อดินที่ใช้เลี้ยงกุ้งและปู เพื่อช่วยลดจำนวนปลาหมอคางดำ ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศของบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตที่ดี

ขณะที่ นายพล ป้านสุวรรณ เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ กล่าวว่า ปลากะพงขาวจะถูกนำไปปล่อยในบ่อเลี้ยงกุ้ง ปลากะพงสามารถหากินเองได้ โดยจัดการลูกปลาหมอคางดำ ช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์ของเกษตรกร และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการนำปลากะพงมาจำหน่ายอีกด้วย

นอกจากนี้ กรมประมงยังเดินหน้าส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรเกี่ยวกับแนวทางการจัดการปลาหมอคางดำ ควบคู่กับการพัฒนาเพาะพันธุ์ปลาหมอคางดำ 4n เพื่อกระจายไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผลักดันให้เกิดการใช้วิธีธรรมชาติในการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ