กรมประมง ตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจเพาะพันธุ์ขยายปลายี่สกไทยจากแม่น้ำโขง หวังอนุรักษ์-ฟื้นฟูพันธุ์ปลาไทยให้ยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมงจัดตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจในการเพาะพันธุ์ปลายี่สกไทยจากแม่น้ำโขง เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ปลาตามโครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาไทยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคงความหลากหลายทางชีวภาพ จากการเพิ่มปริมาณและคงไว้ซึ่งสายพันธุ์ปลายี่สกไทยทั้งในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา เพื่อความมั่นคงทางอาหาร สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า…ปลายี่สกไทย (Probarbus jullieni , Sauvage, 1880) เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ พบได้ในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาบางสาย มีฤดูกาลผสมพันธุ์ ช่วงปลายเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ของทุกปี จัดว่าเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในจำพวกปลาแม่น้ำ เนื่องจากเป็นปลาที่หายากและมีรสชาติดี ปัจจุบันปลายี่สกไทยถูกจัดอยู่ในสัตว์น้ำที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ ตามบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธ์ (CITES)

                                                                                    บัญชา สุขแก้ว

ฉะนั้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรปลายี่สกไทยในแหล่งน้ำธรรมชาติ กรมประมง โดยกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้จัดตั้งชุดเฉพาะกิจในการเพาะพันธุ์ปลายี่สก เพื่อดำเนินการเพาะพันธุ์ปลายี่สกไทยโดยใช้แม่พันธุ์จากธรรมชาติ เพื่อเพิ่มปริมาณและความหลากหลายของปลายี่สกไทย ในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา โดยในปี 2567 มีการตั้งแคมป์เพาะพันธุ์ปลา 2 แหล่ง คือ ริมน้ำแม่น้ำโขงบริเวณบ้านสองคอน ตำบลป่งขาม อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร และริมแม่น้ำโขงบริเวณบ้านไคสี ตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

จากดารติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการของชุดเฉพาะกิจในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า ชุดเฉพาะกิจเพาะพันธุ์ปลายี่สกไทยในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง จังหวัดมุกดาหาร ได้รับพ่อแม่พันธุ์ปลายี่สกไทยระหว่างวันที่ 12 – 13 พฤศจิกายน 2567 จากชาวประมงในพื้นที่จำนวน 2 ชุด ชุดแรก เป็นปลาเพศผู้ 1 ตัว ขนาดน้ำหนัก 11 กก. ยาว 75 ซม. และปลาเพศเมีย 1 ตัว น้ำหนัก 28 กก. ยาว 90 ซม. และชุดที่ 2 เป็นเพศเมียทั้งหมดจำนวน 3 ตัว น้ำหนัก 12 – 13 กก. ความยาว 90 – 95 ซม.

ปลาชุดแรกดำเนินการเพาะพันธุ์โดยการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่และผสมเทียมกับน้ำเชื้อสด ในขณะที่ปลาชุดที่สอง เป็นการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ผสมกับน้ำเชื้อแช่แข็ง พบว่า มีเพียงปลาชุดแรกเท่านั้นที่วางไข่ (240,000 ฟอง) และได้รับการปฏิสนธิจนสามารถฟักและพัฒนาเป็นลูกปลาวัยอ่อนได้ และในกระบวนการเพาะพันธุ์ปลายี่สกไทยในครั้งนี้ กรมประมงได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมของพ่อแม่พันธุ์และลูกพันธุ์ปลา เพื่อนำมาใช้วางแผนในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรปลายี่สกไทยในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาต่อไป ส่วนแคมป์ในพื้นที่บ้านไคสี จังหวัดบึงกาฬ อยู่ระหว่างการดำเนินการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ และเตรียมความพร้อมในการผสมพันธุ์

อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า…การดำเนินการเพาะขยายพันธุ์ปลาแม่น้ำในลักษณะเช่นนี้ จะเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์ปลาแม่น้ำเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้ยังคงความหลากหลายของสายพันธุ์เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมทั้งสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงและประชาชนที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำต่อไป