ดั่ง..น้ำพระราชหฤทัย..14 พ.ย.”วันพระบิดาแห่งฝนหลวง”

  •  
  •  
  •  
  •  

ดั่ง..น้ำพระราชหฤทัย..14 พ.ย.”วันพระบิดาแห่งฝนหลวง”

โดย…ดลมนัส  กาเจ

            “แหงนมองท้องฟ้า เห็นเห็นมีเมฆมาก แต่ถูกลมพัดพาไป ทำอย่างไรจะบังคับให้เมฆเดหล่านั้นตกเป็นฝน ตกลงสู่พื้นดินแห้งแล้งที่ต้องการ”

แม้ พระพ่อหลวงของแผ่นดิน “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 “จะทรงลาลับ เสด็จสู่สวรรคาลัยไปแล้ว แต่คุณงามความดีที่ทรงเกิดจาก พระราชอัจฉริยภาพ และพระราชวิสัยทัศน์อันยาวไกล ที่พระองค์ได้พระราชทานไว้กับปวงชนชาวไทย ทั้งผืนแผ่นดินไทย อันถือเป็นมรดกอันล้ำค่าของประเทศชาติ ที่เป็นประโยชน์ต่อชาวโลกจะยังคงอยู่ตลอดไป ดุจดัง “ฝนหลวง”

            “ฝนหลวง” เป็นผลงานอันเกิดจาก พระราชอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และพระวิริยอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยลเดช รัชกาลที่ 9   เกิดขึ้นด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันอันประเสริฐที่ทรงห่วงใยปัญหาละความทุกข์ยากของพสกนิกรก่อนความสุขของพระองค์เอง ที่ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณ ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนิน เพื่อทรงเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของพสกนิกรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร 15 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายนื 2498 ทรงสังเกตเห็นมีกลุ่มเมฆปริมาณมากปกคลุมเหนือพื้นที่ระหว่างเส้นทาง

            “แหงนมองท้องฟ้า เห็นเห็นมีเมฆมาก แต่ถูกลมพัดพาไป ทำอย่างไรจะบังคับให้เมฆเดหล่านั้นตกเป็นฝน ตกลงสู่พื้นดินแห้งแล้งที่ต้องการ”  พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมิพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยลเดช ตอนหนึ่ง (ที่มา…หนังสือที่ระลึก”ดั่ง…น้ำพระราชหฤทัย” ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร) ก่อนทรงมีพระราชดำริอีกว่า “น่าจะมีลู่ทางที่คิดค้นหาเทคนิาคด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้ฝนตกได้”

            จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยลเดช ได้ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการ อุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498  ทำให้ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี  ถือเป็น“วันพระบิดาแห่งฝนหลวง”เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริโครงการฝนหลวงขึ้นนั่นเอง

            ในปี พ.ศ. 2499 จึงได้พระราชทาน โครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” ให้ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ การรับสนองพระราชดำริได้ร่วมมือกันระหว่าง ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ และม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น รับไปดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนากรรมวิธีการทำฝนให้บังเกิดผลโดยเร็ว ในปีถัดมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้

            กระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 เป็นวันปฐมฤกษ์ในการปฏิบัติการทดลองทำฝนเทียมกับเมฆในท้องฟ้าเหนือภาคพื้นดิน บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ด้วยการใช้น้ำแข็งแห้ง (Dry-Ice) โรยที่ยอดของกลุ่มก้อนเมฆ ปรากฏว่าหลังการปฏิบัติการประมาณ 15 นาที ก้อนเมฆในบริเวณนั้นเกิดมีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่นจนเห็นได้ชัด สังเกตได้จากสีของฐานเมฆได้เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทาเข้ม ซึ่งผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ เพียงแต่ยังไม่อาจควบคุมให้ฝนตกในบริเวณที่ต้องการได้ แต่ก็มิได้ทรงท้อถอย  ในปี พ.ศ. 2514 รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการศึกษาทดลองโครงการทำฝนเทียมเพื่อสนองพระราชดำริที่ว่า

            “… การทำฝนเทียมนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์ วัสดุ และเจ้าหน้าที่ งานที่ทำนี้ก็ต้องสิ้นเปลืองไม่ใช่น้อย แต้ถ้าผลที่ได้ คือจะเป็นผลที่น่าพอใจ การทำฝนนี้ เป็นสิ่งที่ลำบากหลายๆ ประการ ทางด้านเทคนิค และในด้านจังหวะที่จะทำ เพราะถ้าพูดถึงด้านเทคนิค ฝนที่ทำนี้ จะพลิกฤดูการไม่ได้ ไม่ใช่ว่าฝนแล้งจะบันดาลได้อย่าง ปาฎิหาริย์ทำให้มีฝนเพียงพอกับการเพาะปลูกมิได้ หรือจะแทนการ ชลประทานที่ขุดเรียบร้อยกว้างขวางก็ไม่ได้ แต่เป็นทางหนึ่งที่มีหวัง สำหรับฤดูกาลที่ควรจะมีฝน และฝนเทียมจะช่วยให้ประคองพืชผล ไม่ให้สิ้นไปพอได้ การทำฝนเทียมนี้เป็นสิ่งที่ใหม่ จึงต้องทำโครงการ อย่างระมัดระวัง เพราะว่าสิ้นเปลือง ถ้าทำแล้วไม่ได้ผลจะสิ้น เปลืองโดยใช่เหตุ…”  พระราชดำริ วันที่ 25 กรกฎาคม 2517 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

            จากนั้นไม่นานพระองค์ ได้พระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยให้เปลี่ยนพื้นที่ทดลองไปยังจุดแห้งแล้งอื่นๆ เช่น ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น ด้วยความสำเร็จของโครงการฝนหลวง จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นใน พ.ศ. 2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยแล้ง จนในปี พ.ศ. 2548 ได้รับสิทธิบัตรคุ้มครองจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป จำนวน 30 ประเทศ และในปี พ.ศ. 2549 จากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ออกสิทธิบัตรคุ้มครองฝนหลวง ด้วยเหตุนี้ ทำให้เทคโนโลยีฝนหลวงเป็นที่รู้จักและยอมรับกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ ในการเป็นเทคโนโลยี ที่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นได้

            การปฏิบัติการฝนหลวง ไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เมือวันที่ 22-25 มีนาคม 2559 พลเอกฉัตรชัย  สาริกัลยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลไทยเยือนกรุงอัมมาน ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน เพื่อร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการดัดแปรสภาพอากาศโดยเทคโนโลยีฝนหลวง กับนายอาร์เหม็ด มัฟเล่ อาเคฟ อัล  ซูบี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรจอร์แดน โดยการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศในครั้งนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐบาลจอร์แดนได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำฝนหลวงที่มาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้นำไปแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนชาวจอร์แดนจากปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

            นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เคยเล่าว่า เทคโนโลยีฝนหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยลเดช ทรงคิดด้วยความอัจฉริยภาพของพระองค์มายาวนานถึง 14 ปีจนได้ตำรา”ฝนหลวง”นั้น ถือเป็นมรดกอันทรงล้ำค่าของประเทศไทย ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความแห้งแล้งให้กับชาวไทยและชาวโลกได้ จะเห็นได้จากช่วงที่ผ่านมาทั่วโลกให้การยอมรับในความความอัจฉริยภาพ และทรงวิสัยทัศน์อันยาวไกลที่มองถึงคุณค่าของน้ำ เพื่อการอุปโภค-บริโภค และเพื่อการเกษตร  ทำให้หลายประเทศทั้งในเอเซีย ตะวันออกกลาง และอัฟริกา มาศึกษาดูงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีฝนหลวงในประเทศไทย ถึงทางราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการดัดแปรสภาพอากาศโดยเทคโนโลยีฝนหลวงด้วยกันเป็นที่เรียบร้อมแล้ว

            “การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง พระองค์ใช้เวลาศึกเองนานถึง 14 ปี และยังใช้ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เองด้วย ถือเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระวิริยอุตสาหะเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนโดยเฉพาะเรื่องภัยแล้งให้กับพสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้เลย อย่างในปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศ ทั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยลเดช มีพระชนมายุมากแล้ว แต่พระองค์ยังทรงห่วงราฎรที่กำลังได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากขาดแคลนน้ำ พระองค์มีพระราชดำริให้เพิ่มศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มอีก 2 แห่งที่ จ.นครสวรรค์ และเชียงใหม่ ทำให้สามารถแก้วิกฤตภัยแล้งได้เป็นอย่างดี

              สำหรับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 กระทรวงเกษตรฯและสหกรณ์ จะจัดยิ่งใหญ่ “วันพระบิดาฝนหลวง” ปี 2561 น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 9 ผ่านนิทรรศการ “ฝนหลวงในต่างแดน”

            ทั้งนี้ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงานวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2561 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อไม่นานมานี้ว่า ในวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ซึ่งในปีนี้ครบรอบปีที่ 63 นับจากวันที่ 14 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2498 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริที่จะคิดค้น วิจัยหาวิธีการทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรน้ำของประเทศ ภายหลังการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทุรกันดารภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวงสืบมาจนถึงปัจจุบัน

           ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2545เฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งฝนหลวง” โดยกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง”   เพื่อร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ นอกจากนี้โครงพระราชดำริฝนหลวง ได้สร้างคุณูปการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

          โดยเฉพาะความมั่นคงด้านน้ำให้แก่ประเทศไทย และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงคิดค้นเทคโนโลยีฝนหลวงขึ้น ยังได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งได้มีการจดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยทั้งในประเทศและต่างประเทศ และในอีกหลายประเทศก็ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการที่จะนำเทคนิคและวิธีการทำฝนหลวงไปปรับใช้แก้ปัญหาความแห้งแล้งในประเทศของตัวเอง จึงถือได้ว่าโครงการพระราชดำริฝนหลวง นับเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากพระอัจฉริยภาพอย่างแท้จริง       เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยและคนทั่วโลก

           ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องในโอกาส วันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร       ได้กำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 16 พฤศจิกายน 2561 ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี    ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550  ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โดยในวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป จะมีพิธีเปิดนิทรรศการ “ฝนหลวงในต่างแดน” โดยมี นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี

            นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลอาสาสมัครฝนหลวงดีเด่นระดับประเทศและระดับภูมิภาค การมอบรางวัลโครงการประกวดภาพถ่ายและภาพวาด “ฝนหลวง ศาสตร์พระราชา” พร้อมการจัดแสดงผลงานที่ได้รับรางวัล รวมถึงมีการแสดงนิทรรศการเรื่องเล่าความเป็นมาของโครงการพระราชดำริฝนหลวง พันธกิจและภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวง ช่องทางการขอรับบริการฝนหลวง อาสาสมัครฝนหลวง นิทรรศการฝนหลวงในต่างแดนที่แสดงถึงความก้าวหน้าการดำเนินงาน การช่วยเหลือภัยแล้ง และเทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชาที่เผยแพร่ไปยัง 8 ประเทศ นิทรรศการโครงการพระราชดำริต่าง ๆ จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานร่วมบูรณาการที่มีการวิจัยร่วมกันกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร อาทิ กองทัพอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตร ที่แสดงจะแสดงนิทรรศการโครงการพัฒนาอากาศยานไร้นักบิน (UAV) 

           ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง โมเดลสาธิตการติดตั้งอุปกรณ์ยิงพลุสารเคมีซิลเวอร์ไอโอไดด์ (AgI) ที่ใช้ในการทำฝน เมฆเย็น เป็นต้น นอกจากนี้ ไฮไลท์ของงานจะมีการจัดแลนด์มาร์คเปิดตัวภาพวาดสีน้ำมันของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขณะทรงงาน โดยศิลปินชื่อดัง อ.เกริกบุระ ยมนาค เพื่อให้ประชาชนได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

        สำหรับวันพุธที่ 14 พฤศจิกายน 2560 เวลา 09.00 น. จะมีพิธีถวายราชสักการะวางพานพุ่มดอกไม้สดถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ และได้รับเกียรติจาก นายวิวัฒน์ ศัลยกาธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี

        อย่างไรก็ตาม ภายในงานยังมีการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอีกมากมายกว่า 100 ร้านค้า เป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ซึ่งมีทั้งผัก ผลไม้ อาหารสด และอาหารแปรรูปจากผลผลิตทาง การเกษตร มาจำหน่ายให้ประชาชนในราคาประหยัด รวมทั้งยังมีกิจกรรมการสาธิตเสริมสร้างอาชีพจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ การสอนการตัดเย็บกระเป๋าผ้า สาธิตการแปรรูปอาหารจากปลา การทำพุดดิ้งไข่ และการแสดงดนตรีโฟล์คซอง

          จึงขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา และประชาชนมาร่วมงาน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 12 – 16 พฤศจิกายน 2561 เพื่อแสดงความจงรักภักดี ประกาศก้องถึงพระเกียรติคุณแห่งองค์พระบิดาแห่งฝนหลวงและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุด มิได้ของพระองค์ท่านร่วมกัน