ดลมนัส กาเจ
เห็นกระพือข่าวขายต้นเพาโลเนีย (Paulownia) ผ่านสื่อออนไลน์อีกครั้ง ทำให้นึกถึงเมื่อ 20 ปีก่อน แต่จุดประสงค์ของการขาย และอ้างใช้ประโยชน์ที่ต่างกัน และราคาขายก็ต่างกัน ที่เห็นล่าสุดขายกันผ่านออนไลน์ เป็นราคาแพงโคตรๆ ต้นละ 12,000 บาท ขายเป็นชุด 120,000 บาท มี 10 ต้น
จะดีหรือร้ายอย่างไร ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ณ วินาทีน้อง ถึวคราวที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องทำงานเพื่อประชาชนก่อนที่ประชาชนจะตัดสินใจหรือหลงเชื่อการโฆษณา อย่างน้อยต้องบอกว่า จะส่งเสริม หรือเตือนเกษตรกร เพราะไม่มีความชัดเจนในด้านข้อมูล
ในฐานะเราอยู่ในแวดวงข่าวเกษตร มีเพื่อนโทรศัพท์มาปรึกษาเรื่องนี้ว่า พอจะรู้เรื่องต้นเพาโลเนีย หรือไม่ ทำให้นึกถึงทันที เมื่อครั้งเป็น บก.โต๊ะข่าวเกษตร นสพ.คมชัดลึก ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นานนักเมื่อราว 20 ปีก่อน
มีกลุ่มหนึ่งก็ไม่อยากใส่ร้าย มาคุยกันราวๆ 20 ปีก่อนบอกว่า ต้นเพาโลเนียโตเร็วมาก ตอนนี้ (สมัยนั้น) ทางจีนต้องการสูงมาก เพื่อผลิตเยื่อกระดาษ เป็นช่วงวิกฤตราคากระดาษที่แพงมากยุคนั้น ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ได้สัมภาษณ์ลงในหน้าเกษตร “คมชัดลึก” ตอนนั้นมาแรงมาก คนโทรศัพท์เข้ามาเยอะมากจนรับสายชนิดที่ไม่หวาดไม่ไหว ต่อมากลุ่มนี้ลงทุนโฆษณาฟิกลงหน้าเกษตร “คมชัดลึก” หลายครั้ง คือกลุ่มนี้ขายต้นพันธุ์ไม่แพงแบบนี้หรอก อ้างจะรับซื้อเพื่อส่งออกไปจีน
อีก 2 ปีต่อมา มีแต่คนมาโทรศัพท์ด่า หาว่าโฆษณาหลอกลวง ต้องอธิบายกันจนปากแฉะ เพราะกลุ่มคนที่ขายต้นกล้าโกยเงินไปแล้วก็เผ่นไปแล้ว
ตอนนี้ต้นเพาโลเนียคืนชีพอีกแล้วครับ บอกว่า จะส่งเสริมให้ปลูกเพื่อ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง Carbon Offset ของ Asean ช่วยลดโลกร้อน คือพูดง่ายๆตามประสาชาวบ้าน ปลูกแล้วจะให้บุคคลหรือองค์กรจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิต จากผู้ที่ปลูก แต่ที่ขายกิ่งพันธุ์กันในราคาต้นละ 12,000 บาท หรือ ชุดละ10 ต้น ราคา 120,000 บาท อย่างที่ว่านั่นแหละ
มานั่งคำนวนเล่น หากลงทุนไปแล้วกว่าจะได้ทุนคืนก็ไม่ง่าย เพราะหากปลูกในพื้นที่ห่างกัน 8×8 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ 24 ต้น ลงทุนเฉพาะต้นกล้า ตกราว 3 แสนบาท
กระนั้น ถ้าเป็นเรื่องจริง เรื่องดีก็น่าส่งเสริมครับ แต่ตอนนี้ไม่ทราบเจตนาอย่างแท้จริงคืออะไร แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่สมยอมระหว่างคนขายกับคนซื้อ แต่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรด้วย เพราะเวลามีปัญหาไม่พ้นภาครัฐที่ต้องมาแก้ปัญหา ควักเงินจ่ายชดเชย
ฉะนั้นควรจะออกมาพูดหน่อยครับว่า ความเป็นเป็นอย่างไร มีโครงการแบบนี้หรือไม่ คุ้มหรือไม่ที่เกษตรกรหรือคนมีเงินที่มีที่ดินว่างเปล่าจะลงทุนคุ้มหรือไม่ เพราะดูเจตนาน่าจะอยู่ที่นายทุนที่มีที่ว่างเปล่ามากกว่า เพราะลำพังเกษตรกรต้นละหมื่นสองคงหาไม่ง่ายนัก
ถ้าเป็นเรื่องที่ดีบอกมาเลยว่า ภาครัฐก็สนับสนุน ถ้าเข้าข่ายที่แอบอ้างเกินจริงควรจะตักเตือนเกษตรกรกันอย่างไร อยาก ให้ดูกรมปศุสัตว์เป็นตัวอย่าง เวลามีข่าวอะไรที่ไม่ชอบมาพากลในวงการปศุสัตว์ หากมีโพสต์ผ่านออนไลน์ หรือสื่ออื่น อธิบดีจะสวมบทเสือปืนไหว จะออกมาชี้แจงเองทันที
ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวสักนิดครับ ก่อนที่เกษตรกรจะหลงกล ซื้อแล้วไม่คุ้มทุนแล้วจะกลายเป็นปัญหาตามมาครับ!!
ภาพ : องค์การสวนพฤกษศาสตร์
ตามข้อมูล เพาโลเนีย (Paulownia) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 10-20 เมตร โตเร็วมาก ผลัดใบ มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วมาก เนื้อไม้อ่อน น้ำหนักเบา ใช้ประโยชน์หลายอย่าง อาทิ หน้าต่าง ทำไม้คิ้ว เฟอร์นิเจอร์และงานแกะสลัก เป็นต้น
อยู่ในวงศ์ SCROPHULARIACEAE ต้นอ่อนเปลือกสีเขียว มีปุ่มหรือรอยแผลทั่วลำต้น พออายุมากกว่า 5 ปี เปลือกเป็นสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่อง อ่อนไหวต่อไฟ ที่สำคัญมีรากแก้วตรงลึกถึง 40 ฟุต เป็นพืชใบเดี่ยว ใบมีลักษณะเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปหัวใจ มีขนนุ่ม สีเขียวอ่อนด้านหลังใบ ใบมีขนาดโตเต็มที่กว้างได้ถึง 36 นิ้ว ดอกออกเป็นช่อ ขนาดใหญ่ ที่ปลายกิ่งมีสีม่วง ดอกตูมเป็นกระเปาะสีน้ำตาล เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผลทรงกลมรี ผลแก่แตกเป็นสองซีก เมล็ดมีปีกบางใส สีขาว ยาวประมาณ 0.6ซม.เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของจีน