ตอนนี้ดูเหมือนว่ากรมวิชาการเกษตรจะเอาจริงเอาจังกับมิจฉาชีพที่เอาสารเคมีเกษตรกรแบบเถื่อนไปหลอกขายให้เกษตรกร ล่าสุดจับมือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันล้างบางขบวนการผลิตสารเคมีเถื่อนหลอกขายเกษตรกร หลังจากที่เคยร่วมมือมา 2 ปีแล้ว และวางกำลังเป็นดาวกระจายไปยังพื้นที่ 6 จังหวัด จนสามารถลด หรือเกือบปิดฉากแก๊งมิจฉาชีพนี้ได้แล้ว และได้อายัดของกลางผิดกฎหมายส่งดำเนินคดีรวมมูลค่าความเสียหายกว่า 51 ล้านบาท
ทั้งนี้นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร บอกว่า ปัญหาผู้ประกอบการลักลอบผลิตและขายสารเคมีปลอม ไม่ได้มาตรฐาน หลอกขายเกษตรกรทำให้ต้องสูญเสียเงินซื้อสินค้าที่ไม่มีคุณภาพนำมาใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช แต่ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้สารเคมีปลอมด้วย จนกรมวิชาการเกษตรได้รับเรื่องร้องเรียนจากเกษตรกรว่ามีการขายสินค้าชีวภัณฑ์ที่ใช้กำจัดศัตรูพืชและวัชพืชผ่านสื่อออนไลน์ มีทั้งที่มีส่วนผสมของสารพาราควอต ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการประกาศยกเลิกการใช้แล้ว และสารไกลโฟเซต ซึ่งถูกจำกัดการใช้ผสมอยู่ในชีวภัณฑ์ดังกล่าวด้วย
พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ
ที่ผ่านมาบางแห่งเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร จะเข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตและสถานที่จำหน่ายตามที่ระบุไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ปรากฏว่าไม่พบที่อยู่ตามข้อมูลที่ระบุไว้บนฉลาก กลุ่มคนเหล่านี้ผลิตสารเคมีลักษณะเดียวกันอีกหลายชนิด โดยเปลี่ยนชื่อและที่อยู่ เพื่อหลบหนีการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด
ในที่สุดทางกรมวิชาการเกษตรบูรณาการในการปฏิบัติงานร่วมกับดีเอสไอ ซึ่งได้รับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากเห็นว่าเรื่องนี้ก่อให้เกิดความเสียหายและอันตรายเป็นอย่างมาก ประกอบกับมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 10 ล้านบาท และมีผู้เสียหายที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเฉพาะเกษตรกรมากนับร้อยๆราย
ผลการปฏิบัติงานสืบสวน สอบสวน และสนธิกำลังเข้าตรวจค้นแหล่งผลิตสารเคมีผิดกฎหมายร่วมกันของทั้ง 2 หน่วยงาน ระหว่างปี 2562 – 2563 สามารถตรวจยึดของกลางที่ผิดกฎหมายได้จำนวนมากใน 6 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครราชสีมา เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ และกรุงเทพฯ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจำนวนถึง 51.8 ล้านบาทที่เดียวครับ
อย่างไรก็ตามทางพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างส่งวิเคราะห์ ในห้องปฏิบัติการ ยึดอายัดสารชีวภัณฑ์ รวมถึงสิ่งของที่เกี่ยวข้องในการผลิต และรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้ว
ขณะเดียวกันกรมวิชาการเกษตร ได้แจ้งเตือนเกษตรกร และประชาชนให้ระมัดระวังการซื้อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีคุณภาพแล้วครับ พวกนี้มีแหล่งจำหน่ายที่ไม่น่าเชื่อถือ มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณที่เกินจริง หรือมีของแจกของแถมจำนวนมาก
เกษตรกรต้องระวังครับ เพราะไม่เฉพาะที่ต้องเสียเงินไปกับซื้อของมาใช้ไม่ได้ผลแล้ว ยังอันตรายต่อสุขภาพด้วย หากมีข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิด ท่านสามารถแจ้งไปยังกลุ่มสารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร 02-940-5434 ได้เลยครับ!