ดลมนัส กาเจ
มะพร้าวน้ำหอมที่นำมาจากบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ทดลองนำไปปลูกที่สวนเล็กๆที่สวนแสวงหา บ้านดอนกระเบื้อง ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง เมื่อกว่า 2 ปีก่อน ปีนี้บางต้นเริ่มแทงดอก ออกผลกันบ้างแล้ว ทำให้มีความรู้สึกว่าเริ่มมีกำลังใจ แม้ว่าผลผลิตจะออกมาอย่างไร จะนำไปขายที่ไหนก็ตาม แต่คิดว่าปัญหาเหล่านี้คงไม่ใหญ่โตนัก
ทว่า …ปัญหาใหญ่ที่เจอกันมาตลอดคือ “ด้วงแรด” วายร้ายที่เข้ามาทำลายอย่างต่อเนื่องตั้งเริ่มต้นอายุมะพร้าวเพียง 6 เดือน ที่ต้องออกสำรวจและนำมาฆ่าทิ้งตัวแล้วตัวเล่า แต่ก็ยังมีคลาดสายตา ทำให้มะพร้าวตายไปแล้วราว 10 ต้น บางต้นถ้าไปเห็นก่อนสามารถกลับฟื้นมาได้ บางต้นกลายเป็นต้นมะพร้าวประหลาดไป และอีกปัญหาหนึ่งที่เริ่มมีคือ “โจร” ที่ออกมาอาละวาดไปช๊อตปลาตามร่องสวนในเวลาค่ำคืน หากมะพร้าวน้ำหอมออกผลผลิต อาจพัฒนาจากขโมยช๊อตปลา มาเป็นขโมยมะพร้าวแทนได้ แต่ก็ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรนัก เพราะเชื่อว่า จะสามารถรู้ตัวว่าเป็นใคร แต่ปัญหาด้วงแรกนี่สิ ยังไม่ทราบว่าจะยาวนานเท่าไร เพราะเมื่อต้นสูงแล้วอาจตรวจลำบาก
“ด้วงแรด” เป็นแมลงศัตรูอันสำคัญของมะพร้าว และปาล์มน้ำมัน ยิ่งเป็นมะพร้าวนำหอมด้วงแรดยิ่งชอบ ซึ่งข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรระบุว่า มี 2 ชนิด คือ ด้วงแรดชนิดเล็ก ที่อาละวาดในสวนอ่างทอง และด้วงแรดชนิดใหญ่
ด้วงแรดชนิดเล็ก พบทั่วทุกภาคของประเทศไทยและพบบ่อยที่สุด สำหรับด้วงแรดชนิดใหญ่ มักพบไม่บ่อยนัก พบได้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปทางภาคใต้ของประเทศ ในสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งโดยปกติด้วงแรดมะพร้าวไม่สามารถระบาดได้ แต่เกิดความละเลยของมนุษย์เองที่ปล่อยให้มีแหล่งขยายพันธุ์จำนวนมาก อาทิ กองมูลสัตว์ ซากเน่าของพืช เช่นต้นมะพร้าว ปาล์ม แม้แต่การหมักปุ๋ยก็ไม่ควรที่จะประมาท เพราะจะกลายเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรด ทำให้ด้วงแรดเพิ่มปริมาณมากจนเข้าทำลายพืชให้ได้รับความเสียหายได้
ด้วงแรดชนิดเล็ก : ภาพจากรมวิชาการเกษตร
ลักษณะการทำลายนั้น ตัวที่ลำลายจะเป็นเฉพาะตัวเต็มวัยเท่านั้น ด้วงแรดจะบินหาต้นมะพร้าวและกัดเจาะโคนทางใบมะพร้าว ทำให้ทางใบหักง่าย และกัดเจาะทำลายยอดอ่อน ทำให้ใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายรูปสามเหลี่ยม บางตัวเข้าทำทำลายยันโคน ทำให้ใบที่เกิดใหม่แคระแกรน บางครั้ง ทำให้ด้วงงวงมะพร้าว หรือด้วงสาคู เข้าไปวางไข่ ทำให้เกิดโรคยอดเน่า จนถึงต้นมะพร้าวตายได้ในที่สุด
ด้วงแรดชนิดเล็ก และด้วงแรดชนิดใหญ่ มีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ขนาดของลำตัว และขอบของแผ่นปกคลุมด้านหลังของส่วนอกซึ่งมีลักษณะคล้ายฟันเล็กๆ โดยด้วงแรดชนิดใหญ่มี 3 ซี่ ขณะที่ด้วงแรดชนิดเล็กมี 2 ซี่
ด้วงแรดชนิดใหญ่
ตัวเต็มวัย สีดำปีกแข็งเป็นมันวาว ใต้ท้องสีน้ำตาลแดง มีขนาดกว้าง 20-23 มม. ยาว 30-52 มม.เพศผู้ส่วนหัวมีเขาลักษณะคล้ายเขาแรด ยาวโค้งไปทางด้านหลังเล็กน้อย เพศเมียมีเขาสั้นกว่า และบริเวณท้องปล้องสุดท้ายของเพศเมีย มีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นหนาแน่นกว่าของเพศผู้
กระนั้นก็วิธีการป้องกันกำจัดด้วงแรดมะพร้าว ที่กรมวิชาการแนะนำนั้นมี 4 วิธีด้วย คือ การควบคุมโดยวิธีเขตกรรม หมายถึงว่า ให้กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ลงทุนน้อย และสะดวกเพราะอยู่บนพื้นดิน สามารถกำจัดไข่ หนอน ดักแด้และตัวเต็มวัย ไม่ให้เพิ่มปริมาณได้ โดยยึดหลักปฏิบัติดังนี้ คือ เผาหรือฝังซากลำต้นหรือตอของมะพร้าว , เกลี่ยกองซากพืช กองมูลสัตว์ให้กระจายออกโดยมีความสูงไม่เกิน 15 ซม., ถ้ามีความจำเป็นต้องกองมูลสัตว์นานเกินกว่า 2-3 เดือน ควรหมั่นพลิกกลับกอง หรือนำใส่ในถุงปุ๋ยผูกปากให้แน่นและนำไปเรียงซ้อนกันไว้
วิธีที่สอง การควบคุมโดยวิธีกล คือหมั่นทำความสะอาดบริเวณคอมะพร้าวหรือปาล์ม ตามโคนทางใบ หากพบรอยแผล เป็นรูใช้เหล็กแหลมแทงหาด้วงแรดเพื่อกำจัดเสีย ซึ่งปัจจุบันที่สวนแสวงหาจะใช้วิธีนี้เนื่องจากไม่พบแหล่งขยายพันธุ์นั่นเอง
กับดัก : ภาพจากกรมวิชาการเกษตร
วิธีที่สาม การควบคุมโดยใช้กับดัก ใช้ล่อฟีโรโมนล่อจับตัวเต็มวัยในเวลากลางคืนโดยเปิดแสงไฟ เพื่อนำมาทำลาย และวิธีสุดท้ายคือ การควบคุมโดยชีววิธี ใช้เชื้อราเขียว และเชื้อไวรัสช่วยทำลายหนอนและตัวเต็มวัยด้วงแรด
การใช้เชื้อราเขียวและเชื้อไวรัสช่วยทำลายหนอนด้วงแรด เป็นวิธีที่ไม่มีสารตกค้าง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม วิธีใช้คือ ทำกล่องกับดักขนาด 2 x 2 x 0.5 เมตร ใส่ซากเน่าเปื่อยของพืช ขี้เรื่อย ขุยมะพร้าว ขี้วัว กากกาแฟ หรือแกลบ และใช้เชื้อราเขียว อัตรา 200 – 400 กรัม ต่อ 1 กับดัก ผสมคลุกให้เข้ากัน เพื่อให้ด้วงแรดมาวางไข่และขยายพันธุ์ จนถูกเชื้อราเขียวเข้าทำลายหนอน ดักแด้โดยจะมีลำตัวสีเขียวคล้ำและตายในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ที่เคยเห็นชาวสวนปาล์มใช้อยู่อีกวิธีหนึ่งคือวิธีเคมี คือการใช้สารฆ่าแมลง carbofuran (Furadan 3 % G) อัตรา 200 กรัมต่อต้น ใส่รอบยอดอ่อน และซอกโคนทางใบถัดออกมา หรือสาร chlorpyrifos (Lorsban 40 % EC) อัตรา 80 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดรอบยอดอ่อน และโคนทางใบถัดมา ต้นละประมาณ 1 ลิตรเดือนละ 1 ครั้ง อีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือใช้สารไล่ naphthalene ball หรือลูกเหม็น ใส่ตามซอกโคนทางใบ ต้นละ 6 – 8 ลูก ต่อต้นก็สามารถป้องกันได้เช่นกัน