ลาแล้วลาลับ“ศ.ระพี สาคริก”ทิ้งไว้..ผลงานอันล้ำค่าให้แผ่นดิน

  •  
  •  
  •  
  •  

               ลาแล้วลาลับ“ศ.ระพี สาคริก”ทิ้งไว้..ผลงานอันล้ำค่าให้แผ่นดิน

โดย…ดลมนัส  กาเจ

                                                ภาพนี้จาก: komchadluek.net

             แม้วันนี้ปูชนียบุคคลด้านกล้วยไม้ระดับโลก “ ศ.ระพี สาคริก” ที่ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย”  อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ล่วงลับไปอย่างไม่มีวันกลับ เมื่อตอนเช้าตรู่ของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 นั้น ถือเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญของประเทศครั้งใหญ่ ที่วงการกล้วยไม้ ควรจารึกบันไว้ ว่า กล้วยไม้ไทยที่ผงาดในตลาดโลก ก็มาจากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ของปูชนียบุคคลคนท่านนี้เอง

           ศ.ระพี เป็นบุตรชายคนโตของขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตริยสมุห (เนื่อง สาคริก) และคุณแม่สนิท ภมรสูตร เกิดเมื่อ เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2465 ถึงแก่อนิจกรรมวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 มีอายุรวม 94 ปี กับ10 เดือน 13 วัน นับง่ายๆคือ 95 ปี เกิดที่แขวงวรจักร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมฯ สมรสกับคุณกัลยา มนตริวัตร (บุตรีขุนพิชัยมนตรี อดีตหัวหน้าเสรีไทยสายกาญจนบุรีช่วงมโลกครั้งที่ 2) มีบุตร 4 คน เป็นชาย 3 คน ได้แก่ นายรวิวรรณ สาคริก นาย พีระพงศ์ สาคริก  นายวงษ์ระวี สาคริก และ นางสาว มาลีกันยา สาคริก

           เริ่มต้นการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนสามเสนวิทยาคาร ต่อที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนนาฏศิลป์ จบมัธยมบริบูรณ์ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ (รุ่น7)  โอนมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่กรุงเทพฯ (เกษตรศาสตร์รุ่นที่ 2) จบปริญญากสิกรรมและสัตวบาลบัณฑิต (กส.บ.) หลักสูตร 5 ปี เมื่อปี 2490

          ตลอดระยะเวลาที่เรียนหนังสือ ศ.ระพี  เป็นคนเรียนหนังสือเก่งคนหนึ่ง และจะถ่ายทอดความรู้ให้แก่เพื่อนฝูงเสมอ ในระหว่างเรียนหนังสือมักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ด้วยการ ปลูกต้นไม้ เล่นดนตรี การวาดภาพ เป็นต้น

         

            ศ.ระพี เริ่มทำงานครั้งแรกเป็นลูกจ้างชั่นคราวที่ วิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้ (ยกฐานะจากโรงเรียน)  ได้รับมอบหมายให้ทำการวิจัยพันธุ์ข้าว พันธุ์ผักและยาสูบและเป็นผู้ริเริ่มนำวิชาการสถิติและการวางแผนวิจัยการเกษตรออกใช้ในงานสนามเป็นครั้งแรก

           ต่อมา ศ.ระพี กลับมากรุงเทพฯอีกครั้งมารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนได้ดำรง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น ยังค้นคว้าและส่งเสริมกล้วยไม้ทั้งในด้านการปรับปรุงพันุธุ์ ขยายพันธุ์ศึกษาด้านธุรกิจการส่งออก จนได้รับการยอมรับจากวงการกล้วยไม้ของโลกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญมากที่สุดคนหนึ่งและส่งผลให้กล้วยไม้ไทยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และกลายเป็นสินค้าเกษตรส่งออกของประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน ทำให้คนในวงการกล้วยไม้ยกให้เป็น “บิดากล้วยไม้ไทย”

           จากความสามารถนี้ ศ.ระพี สาคริก จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาเกษตรศาสตร์ในปี 2511) และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในปี 2513 

[adrotate banner=”3″]

        ศ.ระพี เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลสมัยที่ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และยังมีตำแหน่งสำคัญอื่นๆอีกมามาย กระทั่งในปี  2533 ศ.ระพี สาคริก ได้ลาออกจากตำแหน่งประจำต่างๆ ที่ดำรงทั้งภาคราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน กลับใช้ชีวิตที่สงบและเรียบง่าย เหลือเพียงการเป็นที่ปรึกษาให้วิทยาทานด้วยการบรรยาย สัมมนา ในด้านการพัฒนาชนบทและเยาวชนที่เน้นด้านคุณธรรมและจริยธรรม กระทั่งปี 23 กุมภาพันธ์ 2558 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานวัตกรรมเกษตรจาก มหาวิทยาลัยรังสิต

            ในช่วงที่ ศ.ระพี พักผ่อน อยู่อย่างเรียบง่าย ใช้เวลาบางส่วนไปช่วยดูแลกิจการสวนไกล้วยไม้ของบุตรชาย ทำที่ อ.ภูเรือ จ.เลย นอกจากนี้ยังใช้เวลาเขียนหนังสือ และเมื่อครั้งที่ ผมยังทำงานที่หนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” ไปปรึกษาหารือ และ ศ.ระพี ให้เกียรติ์ เป็นคอลัมน์นิสต์ เขียนประจำในหน้า”เกษตร-ทำมาหากิน” หนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” จนถึงเกือบถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และยุติบทบาทของนักคิดนักเขียนอาวุโสระดับปรมจารย์กล้วยไม้ เนื่องจากสุขภาพไม่เอื้อต่อการเขียนหนังสือ ในช่วงเดียวกันที่ผมได้อำลาชายคาเนชั่นเมื่อหลายเดือนก่อน

          ขอให้ดวงวิญญาณ ศ.ระพี  สาคริก ปูชนียบุคคล ที่ลูกศิษย์ลูกหา รวมทั้งคนในวงการกล้วยไม้ และบุคคลทั่วไปให้ความเคารพนับถือ จงสูสรวงสวรรค์เทิอญ !