นักวิชาการด้านสัตวแพทย์ แนะมาตรการป้องกัน-ดูแลปศุสัตว์ ในภาวะอุทกภัย พร้อมบอกวิธีบริโภคเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัย

  •  
  •  
  •  
  •  

นักวิชาการด้านสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน แนะนำ วิธีการดูแลและป้องกันโรคในสัตว์ช่วงภาวะน้ำท่วม  พร้อมบอกวิธีการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างปลอดภัย ควรเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่มีการรับรองและต้องปรุงสุกก่อนการบริโภคทุกครั้ง

รศ.น.สพ.ดร. มานะกร สุขมาก ผู้อำนวยการศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์ กำแพงแสน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในสถานการณ์ฝนตกหนักหรือน้ำท่วม ปัญหาหลักที่พบ คือ สัตว์มีภาวะเครียด เพราะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เมื่อสัตว์เกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันจะลดลง ทำให้สัตว์อ่อนแอเจ็บป่วยเป็นโรคได้ง่าย หรืออาจเกิดการติดเชื้อได้ ถ้าสัตว์ตัวไหนมีโรคอยู่แล้ว อาจทำให้แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าปกติ ฉะนั้น ควรขนย้ายสัตว์ไปยังพื้นที่แห้งและอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อลดความเครียดของสัตว์ให้ได้มากที่สุดและต้องเฝ้าระวังอาการของสัตว์ หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ เพราะอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องให้รักษา เช่น การให้ยาปฏิชีวนะ

นอกจากนี้ สัตว์ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ในคอกเลี้ยงหรือสถานที่เลี้ยงที่มีน้ำขังนานๆ มักจะมีปัญหาเรื่องผิวหนัง กีบและเต้านมอักเสบ ส่วนโรคที่มากับน้ำและต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก คือ โรคฉี่หนู เพราะติดต่อได้ทั้งคนและสัตว์ เป็นโรคที่ค่อนข้างอันตรายและมีอาการรุนแรง โดยเกิดจาก แบคทีเรีย เลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis, Weil Disease) ซึ่งปนเปื้อนมากับน้ำ ถ้าคนหรือสัตว์มีบาดแผลแล้วเดินลุยน้ำที่มีเชื้อโรคอยู่ เชื้อโรคก็จะผ่านเข้าทางบาดแผลได้ หรือกระเด็นเข้าตามเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ตา จมูก หรือ ปาก โดยโรคนี้อาการ คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อ อาเจียน บางรายถึงขั้นเสียชีวิต


รศ.น.สพ.ดร. มานะกร สุขมาก

ขณะเดียวกันในช่วงภาวะน้ำท่วม สภาพอากาศในคอกเลี้ยงสัตว์ถ่ายเทได้ไม่สะดวก เกิดการสะสมของสารบางอย่างที่ควรจะพัดออกไปตามธรรมชาติ ทำให้เสี่ยงต่อการที่สัตว์จะติดโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคในสุกร อาทิ หวัดหมู ส่วนในวัว อาทิ โรคปอดบวม

อีกปัญหาที่มักจะตามมาหลังน้ำท่วม คือ สัตว์พาหะนำโรคต่างๆ เช่น แมลงพาหะ ยุง เหลือบ ไร โดยแมลงเหล่านี้จะมาเวลาที่มีน้ำท่วมขัง รวมไปถึงสัตว์พาหะอื่นๆ ที่หนีน้ำมา เช่น หนู ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในโรคระบาดหลายๆโรค เช่น ไข้สามวันในวัว ลัมปี สกิน หรือโรคที่มากับแมลงและยุง อย่าง พยาธิเม็ดเลือด ส่วนในสุกร เช่น โรคอหิวาต์สุกร โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งมากับแมลงได้เช่นกัน สำหรับโรคในสัตว์ปีก ที่มากับยุง เช่น โรคมาลาเรีย พยาธิเม็ดเลือดอื่นๆ ส่วนที่มากับหนู คือพวกแบคทีเรีย อย่าง ซัลโมเนลลา หรือ อีโคไล ที่สามารถปนเปื้อนเข้ามาในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีกได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีโรคบางชนิด ที่อาจติดไปพร้อมกับการขนย้ายสัตว์ออกจากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่หนึ่ง เมื่อเกิดน้ำท่วม โดยโรคที่สำคัญและมักไปกับการขนย้ายฝูงปศุสัตว์ เช่น โรคปากและเท้าเปื่อยในวัวหรือในสุกร ฉะนั้น การขนย้ายสัตว์ไปสู่พื้นที่ใหม่ หากไม่มีระบบป้องกันโรค ไม่มีระบบพักสัตว์ หรือการเฝ้าระวังที่ดี ก็อาจทำให้แพร่เชื้อโรคจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่งได้โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ

ขณะที่โรคอื่นๆ ในสุกร ที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ อหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เนื่องด้วยโรคนี้มีความทนทานในสิ่งแวดล้อมสูงเมื่อเทียบกับโรคอื่น จึงมีความเสี่ยงสูงมากกว่าโรคอื่นๆ กรณีที่มีสุกรป่วย สุกรตาย หรือมีเชื้อโรคและสิ่งปนเปื้อนอยู่ในน้ำ แล้วพัดไปตามพื้นที่อื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้ ฟาร์มต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

สำหรับมาตรการป้องกันและรักษาโรค หากเป็นโรคที่มีวัคซีนในการควบคุมป้องกันโรค แนะนำว่าควรฉีดวัคซีนให้สัตว์เพื่อป้องกันการเกิดโรค หรือเพื่อลดความรุนแรงจากการเกิดโรค ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต้องพยายามอย่าให้คอกสัตว์มีน้ำขัง ให้สัตว์อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนมากสัตว์ที่อยู่ในระบบฟาร์มขนาดใหญ่หรือขนาดกลาง จะมีระบบไบโอซีเคียวริตี้ ซึ่งเป็นระบบป้องกันโรคที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว

ส่วนเกษตรกรรายย่อย แนะนำเน้นมาตรการป้องกันและกำจัดสัตว์พาหะ แมลงพาหะ มาตรการที่ต้องทำเพิ่ม อาทิ กางมุ้ง แต่อากาศยังคงต้องสามารถถ่ายเทได้ดี และพ่นยากำจัดแมลง หรือลงทุนเพิ่มการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อลดโอกาสในการนำเชื้อเข้าฟาร์ม รวมถึงการวางกับดักหนู เพื่อไม่ให้เข้ามายังฟาร์มได้

ที่สำคัญหากพบว่า มีสัตว์ป่วย หรือตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งหรือปรึกษาสัตวแพทย์ในพื้นที่ทันที เพราะการตายผิดปกติต้องแจ้งสัตวแพทย์สืบประวัติว่าตายด้วยโรคระบาดประเภทไหน เพราะมีวิธีการทำลายที่แตกต่างกันไป ซึ่งบางโรคที่รุนแรงมากๆ จะต้องมีกระบวนการใส่น้ำยาฆ่าเชื้อเยอะกว่าปกติ

รศ.น.สพ.ดร. มานะกร กล่าวย้ำว่า การบริโภคเนื้อสัตว์ควรตระหนักถึงความปลอดภัย โดยหลักการทั่วไป สัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติไม่ควรนำมาบริโภค ส่วนการเลือกซื้อให้เลือกเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพ มีการรับรองความปลอดภัย เลือกซื้อจากสถานที่จำหน่ายที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งสังเกตได้จากตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” และที่สำคัญต้องปรุงสุกก่อนการบริโภคทุกครั้ง