ปศุสัตว์เตือน!! ภัยใกล้ตัวจากโรคพิษสุนัขบ้า เผยหากมองข้าม อาจถึงชีวิต ระบุยังไม่มียารักษา ที่สำคัญไม่ได้เกิดกับสุนัขเพียงอย่างเดียว หากแต่สามารถเกิดได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกช่วงอายุและทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ล้วนเป็นต้น พาหะนำเชื้อใกล้ตัวที่สำคัญ
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าว่า ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2567 ซึ่งมีการส่งตัวอย่างส่งตรวจสะสมปี 2567 จำนวน 2824 ตัวอย่าง ผลบวกสะสมจำนวน 170 ตัวอย่าง ชนิดสัตว์ที่เกิดโรค แบ่งเป็นสุนัข 155 โค 11 แมว 3 กระบือ 2 โดยมีพื้นที่ที่พบการเกิดโรค 7 จังหวัด 10 จุด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ชลบุรี อุบลราชธานี ศรีสะเกษ มหาสารคาม ตาก และสุพรรณบุรี
น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์
ปัจจุบันมีพื้นที่ควบคุมที่พบการเกิดโรค 10 จุด ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี จันทบุรี ชลบุรี ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม ตาก สุพรรณบุรี มีพื้นที่เฝ้าระวังการเกิดโรค 160 จุด ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช พัทลุง สมุทรสงคราม ตาก พิจิตร เลย กาฬสินธุ์ นครพนม มหาสารคาม มุกดาหาร ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ สระแก้ว กรุงเทพมหานคร และพบจุดเกิดโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มที่จังหวัดสุรินทร์ เป็นสุนัขไม่มีเจ้าของ และไม่เคยฉีดวัคซีน จำนวน 1 ตัว
ทั้งนี้โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ บางพื้นที่เรียกว่า โรคหมาว้อ เกิดจากเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า หรือเรบีส์ไวรัส (Rabies Virus) เป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลางที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว เสียชีวิตสถานเดียว เนื่องจากไม่มียารักษา ซึ่งโรคนี้ไม่ได้เกิดกับสุนัขเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเกิดได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกช่วงอายุและทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว โค กระบือ แพะ แกะ กระต่าย หนู ค้างคาว สุนัขจิ้งจอก แรคคูน ลิง ชะนี กระรอก เป็นต้น พาหะนำเชื้อใกล้ตัวที่สำคัญ คือ สุนัข แมว และที่สำคัญโรคพิษสุนัขบ้านี้ แพร่เชื้อจากสัตว์สู่สัตว์หรือไปสู่คนผ่านทางน้ำลาย และสามารถติดโรคนี้ได้ในทุกฤดูไม่ใช่แค่หน้าร้อนเท่านั้น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขแก่สัตว์จึงถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉีดวัคซีนให้สุนัขและแมวเป็นประจำ โดยครั้งแรกควรฉีดวัคซีนในช่วงอายุ 2-4 เดือน ครั้งที่ 2 ฉีดวัคซีนให้ห่างจากครั้งแรก 1 เดือน และกระตุ้นซ้ำ ครั้งละ 1 เข็ม ทุกปี
อาการของสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า แบ่งได้ 2 แบบ คือ แบบซึม และแบบดุร้าย โดยหากเกิดกับสุนัข 2-3 วันหลังได้รับเชื้อ สุนัขจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น หงุดหงิด ไม่อยากเข้าใกล้เจ้าของ หลบซุกซ่อนตัวตามมุมมืด ขู่ หรือกัด หวาดกลัว รูม่านตาขยาย หลังจากแสดงอาการระยะเริ่มแรก 1-7 วัน สุนัขจะกระวนกระวาย วิ่งอย่างไม่มีจุดหมาย แสดงอาการแปลกๆ เช่น งับลม หรือกัดกินสิ่งแลกปลอม ทำเสียงเห่าหอนผิดปกติ ต่อมาเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการกลืน การเคี้ยว ลิ้นห้อย น้ำลายไหล ลิ้นสีแดงคล้ำ ระยะต่อมา หางตก ขาหลังเริ่มอ่อนเปลี้ยลุกไม่ได้ อาการอัมพาตจากส่วนท้ายลำตัวไปส่วนหัว และตายในที่สุด และหากเกิดกับแมว 1 วัน หลังจากได้รับเชื้อ แมวจะแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวฉับพลัน หรืออาจหลบซ่อนตัวในที่มืด หลังจากแสดงอาการระยะเริ่มแรก 2-4 วัน แมวจะเริ่มมีอาการกล้ามเนื้อสั่น ดุร้าย เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการกลืน การเคี้ยว กลืนลำบาก น้ำลายไหล แสดงอาการอัมพาตส่วนท้านของลำตัวก่อน จากนั้นเกิดอัมพาตทั่วตัวอย่างรวดเร็ว และตายในที่สุด
โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ โดยการดูแลสุขภาพอนามัยของสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัย เลี้ยงสุนัขให้อยู่ในบริเวณบ้านเมื่อออกนอกบ้านให้ใส่สายจูง ควรหลีกเลี่ยงการเล่นสัมผัสกับสุนัขหรือแมวที่ไม่ทราบประวัติหรือไม่มีเจ้าของโดยเฉพาะเด็กเล็ก อยู่ห่างจากสัตว์ป่าเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อ และเพื่อความปลอดภัยในการเล่นกับสัตว์เลี้ยง ต้องยึดหลัก 5 ย. คือ อย่าแหย่ให้สัตว์ตกใจเพราะมันอาจจะแว้งมากัด อย่าเหยียบหัว ตัว หาง หรือบริเวณของร่างกายสัตว์ที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด อย่าหยิบจานข้าวที่แมว หรือสุนัขกำลังกินอาหารอยู่เพราะสัตว์จะแสดงอาการหวงของกินและมากัดได้ อย่าแยกสุนัข หรือแมวที่กำลังต่อสู้กันอยู่ เพราะอาจจะโดนกัดหรือข่วน และอย่ายุ่งกับสุนัข แมวที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน หรือสุนัขและแมวจรจัด โดยหากถูกสัตว์กัดหรือข่วนให้ล้างแผลใส่ยา กักหมาหรือแมวเป็นเวลา10 วัน หาหมอฉีดวัคซีนให้ครบ หากสุนัขหรือแมวตายภายใน 10 วัน ให้ส่งหัวสัตว์ไปตรวจหาโรค
สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในช่วงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 19 มิถุนายน 2567 ทั้งหมด 30 จังหวัด 179 จุด คือ ลพบุรี จันทบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง สมุทรปราการ นครนายก อำนาจเจริญ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร นครราชสีมา เลย มหาสารคาม นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ตาก อุตรดิตถ์ พิจิตร สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ซึ่งขณะนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้เร่งรัดควบคุมโรคทุกจุดเกิดโรค โดยฉีดวัคซีนรอบจุดเกิดโรค (ring vaccination) ร่วมในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคได้ หากพบสัตว์แสดงอาการสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอหรือปศุสัตว์จังหวัดได้ทุกพื้นที่ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมปศุสัตว์ เบอร์โทรศัพท์ 06 3225 6888 ตลอด 24 ชั่วโมง