อย. แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อหมูให้ปลอดภัย ปราศจากสารเร่งเนื้อแดง

  •  
  •  
  •  
  •  

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แนะผู้บริโภคสังเกตเนื้อหมูที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดง ชี้ความร้อนไม่สามารถทำลายได้ ย้ำ อย.ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคมาเป็นอันดับแรก มีการลงพื้นที่สุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สารเร่งเนื้อแดง คือ ยาที่นำมาใช้ในการรักษาโรค อยู่ในกลุ่ม เบตาอะโกนิสต์ (Beta-Agonist) เช่น ซัลบูทามอล (Salbutamol) เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol) มาเพนเทอรอล (Mapenterol) หรือ แรคโตพามีน (Ractopamine) ใช้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด มีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดลมให้ผู้ป่วยสามารถหายใจคล่องขึ้น โดยใช้ในปริมาณเล็กน้อยเพียง 1 มิลลิกรัม ถึง 2 มิลลิกรัม ในบางคนใช้แล้วมีอาการแพ้ยา และยากลุ่มนี้ อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อขยับขยายตัวมากขึ้น เคลื่อนไหวตลอดเวลา กล้ามเนื้อกระตุกหรือสั่น

จากอาการข้างเคียงของยาข้างต้น จึงมีคนนำยามาใช้กับหมู เพื่อตอบสนองความต้องการและความนิยมของลูกค้าที่ต้องการบริโภคเนื้อหมูส่วนที่เป็นเนื้อแดง มันน้อย ผู้เลี้ยงหมูจึงนำยากลุ่มนี้ผสมในอาหารสัตว์ หรือ นำไปฉีดในหมู โดยหมูที่ได้รับยาจะตื่นตัวและเคลื่อนไหวตลอดเวลา กล้ามเนื้อทำงานมากขึ้น ทำให้สัดส่วนไขมันของหมูบางลง สัดส่วนเนื้อแดงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


                                                                                     เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ

ทั้งนี้การนำยาดังกล่าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างกล้ามเนื้อในหมู หรือเร่งให้มีเนื้อแดงมากขึ้น ถือเป็นการปรับเปลี่ยนขั้นตอนกระบวนการการผลิต สุดท้ายผู้ที่บริโภคเนื้อหมูจะได้รับยาที่ตกค้างอยู่ในกล้ามเนื้อหมูหรือเนื้อหมู และเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ สังเกตได้จากหลังการรับประทานเนื้อหมูแล้วเกิดอาการ หายใจเร็วขึ้น ใจสั่น หรือรู้สึกกล้ามเนื้อสั่น โดยยาจะออกฤทธิ์ทันที ไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง หลังจากนั้นยาจะหมดฤทธิ์และถูกขับออกตามทางเดินปัสสาวะ

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ กลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจ มีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ หากได้รับยานี้ จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูง และคนที่เป็นโรคเบาหวาน ยานี้จะไปบดบังอาการของโรคทำให้ผู้ที่เป็นเบาหวานไม่รู้ตัวและวูบได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่ายานี้กระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็ง  โดยสารเร่งเนื้อแดง ไม่สลายตัวเพราะความร้อน ดังนั้นกระบวนการปรุงอาหารไม่สามารถช่วยกำจัดสารนี้ได้ แม้ผ่านกระบวนการปรุงอาหารแล้ว สารนี้ยังคงตกค้างอยู่

เภสัชกรเลิศชาย แนะนำว่า วิธีการป้องกันสารเร่งเนื้อแดง ให้เลือกที่ตัวผลิตภัณฑ์ และเลือกแหล่งจำหน่าย กรณีไม่ทราบแหล่งที่มาของหมู ให้สังเกตจากลักษณะของเนื้อหมู เลือกเนื้อหมูที่มีสีชมพู ไม่แดงจัด เนื้อฉ่ำน้ำ มีมันแทรกอยู่ในเนื้อหมู จิ้มลงไปแล้วมีความนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง มีความสด ไม่มีสีคล้ำเขียวและไม่มีกลิ่นเหม็น หากหมูมีลักษณะเนื้อแห้ง เนื้อมาก มันน้อย ควรเลี่ยงเพราะมีความสุ่มเสี่ยง

นอกจากนี้ ผู้บริโภคควรซื้อเนื้อหมูที่อยู่ในตู้แช่เย็น ไม่วางบนเขียงที่อุณหภูมิปกติเพราะมีความเสี่ยง เนื่องจากเนื้อหมูเป็นของสด เน่าเสียได้และมีอายุการเก็บรักษา การเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เย็น จึงช่วยคงสภาพความสดของเนื้อสัตว์ไว้ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเลือกซื้อเฉพาะร้านที่มีตู้เย็นเท่านั้น แต่ขั้นตอนการเก็บรักษาของสดในตู้เย็นเป็นระบบการเก็บรักษาอาหารขั้นพื้นฐานที่สำคัญ

ด้านผู้ผลิตอาหาร หรือผู้ประกอบการที่นำผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ หรือ เนื้อหมู มาใช้ในการปรุงประกอบเพื่อส่งต่อผู้บริโภค มีหน้าที่สำคัญคือคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบ สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องทราบว่าหมูมาจากฟาร์มใด ซึ่งกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ มีมาตรฐานในการเลี้ยงหมู ในฟาร์มมาตรฐานจะมีมาตรการป้องกันการใช้ยา หากเลือกจากฟาร์มมาตรฐาน ก็สามารถมั่นใจในความปลอดภัยได้ ดังนั้น ฝากผู้ประกอบการ เลือกซื้อเนื้อหมูจากฟาร์มที่ได้การรับรองมาตรฐาน หรือเลือกจากเขียงที่มีคุณภาพ และเก็บรักษาอย่างเหมาะสม

ส่วนเนื้อหมูที่ผ่านกระบวนการตัดแต่งสไลด์หรืออยู่ในบรรจุภัณฑ์ อย.จะเข้าไปตรวจที่โรงงานตามข้อกำหนดมาตรฐาน อาทิ 1.หมูมาจากฟาร์มใด มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างหรือไม่ 2.ความสะอาดของสถานที่และโรงงาน 3.ขั้นตอนกระบวนการการผลิตสะอาดและมีความเหมาะสม เมื่อเนื้อหมูบรรจุลงผลิตภัณฑ์ จะมีสลากระบุวันเดือนปีที่ผลิต วันหมดอายุ โดยปกติระยะเวลาในการบริโภคจะไม่เกิน 3 วัน และต้องเก็บอยู่ในที่เย็นตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม อย. มีการสุ่มตรวจเนื้อหมูอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับกรุงเทพมหานครและทุกจังหวัด ลงพื้นที่สุ่มตรวจทั้งตลาดขนาดใหญ่ ตลาดค้าส่งและตลาดสดต่างๆ รวมถึงห้างสรรพสินค้า เป็นประจำทุกเดือน หากตรวจพบว่าในเนื้อหมูมีสารเร่งเนื้อแดงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จะจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ขาย หรือผู้นำเข้า มีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และหากมีสารเร่งเนื้อแดงในปริมาณสะสมที่สูงมาก มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่าน ระหว่าง ปี 2556-2566  อย. สุ่มเก็บตัวอย่าง 430 ตัวอย่าง พบสารเร่งเนื้อแดง 85 ตัวอย่าง โดยตรวจพบเฉพาะในช่วงแรก แต่ปัจจุบันไม่พบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อผู้บริโภค แสดงถึงความใส่ใจตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงหมู ไม่มีการใช้ยา นำสินค้าที่มีคุณภาพมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค และถึงแม้ว่าจะไม่พบสารเร่งเนื้อแดงแล้ว อย. ยังคงทำหน้าที่เฝ้าระวังความปลอดภัย จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่า อย. มีมาตรการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์สุ่มตรวจอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่แปรรูป และเนื้อสัตว์ที่อยู่บนเขียง หากพบการกระทำที่ผิดทางกฎหมาย จะดำเนินคดีอย่างเข้มงวด./