’”อนุชา” ดันอาชีพปศุสัตว์ สร้างเงินบาทแรกของแผ่นดิน ยกระดับเกษตรกรไทยสู่ความร่ำรวย

  •  
  •  
  •  
  •  

“อนุชา” ดันอาชีพใหม่ให้เกษตรกรในนพื้นที่พื้นที่เพาะปลูกที่ไม่เหมาะสม หันมาทำปศุสัตว์สร้างเงินบาทแรกของแผ่นดิน ยกระดับเกษตรกรไทยสู่ความร่ำรวย

วันที่ 6 ธ.ค.66  นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานสีสันตำนาน 160 ปี เที่ยวเมืองตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 3 – 7 ธ.ค. 66 และเปิดงานเกษตรแฟร์ 160 ปี ตระการพืชผล ระหว่างวันที่ 5 – 6 ธ.ค. 66 พร้อมมอบรางวัลประกวดวัว-ควายสวยงาม ณ สวนสาธารณะหนองขุหลุ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

นายอนุชา กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงดำรัสไว้ว่า การเกษตรนั้นถือได้ว่าเป็นทั้งรากฐานและชีวิตของประเทศ เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ถือเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญ ตนในฐานะรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ จึงได้มุ่งไปที่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ผ่านแนวคิด “เงินบาทแรกของแผ่นดิน” ที่จะสร้าง GDP ให้แก่ประเทศ ด้วยการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการทำการเกษตรแบบในอดีตนั้น ไม่ประสบความสำเร็จ มีความเสี่ยงสูงทั้งสภาพอากาศและการระบาดของโรค-ศัตรูพืช ดังนั้น จึงต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่การทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสมโดยใช้ Agri-Map เดิมทำนาปรับเปลี่ยนมาทำปศุสัตว์ เช่น ปลูกหญ้าอาหารสัตว์ซึ่งใช้น้ำน้อย เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ ทดแทนการทํานาได้ดี เกษตรกรมีรายได้ที่ดีกว่าเดิม จึงอยากให้มีการขยายผลให้กว้างขึ้น โดยหน่วยงานรัฐต้องเข้ามาสนับสนุนทั้งความรู้ ปัจจัยการผลิต และตลาดการแปรรูป

นายอนุชา กล่าวอีกว่า หากเกษตรกรไทยยังคงทำการเกษตรแบบเพาะปลูกเพียงอย่างเดียว เราจะไม่หลุดพ้นจากความยากจนได้ และลูกหลานเกษตรกรไทย ก็ยังต้องเป็นแรงงาน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนในภาคเกษตร ต้องร่วมมือกันเปลี่ยนประเทศของเราให้ดีขึ้น นำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาร่วมกันส่งเสริมเกษตรกรไทย ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่เหมาะสม หันมาทำปศุสัตว์ นอกจากนี้ วัวควาย ยังถือเป็นซอฟพาวเวอร์ของไทย ที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว และส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวในไทยได้อีกด้วย

สำหรับการจัดงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งด้านความรู้และการสร้างรายได้ เพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้า และผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนมีรายได้และเกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเกษตรให้มีพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าการเกษตรและนำเสนอผลิตภัณฑ์ของชุมชนในท้องถิ่น ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร และสินค้า OTOP ยกระดับมาตรฐานการผลิต เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าเกษตรคุณภาพ สร้างอาชีพที่ยั่งยืน เพิ่มรายได้แก่เกษตรกร สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพื่อเป็นโอกาสให้เกษตรกรได้พัฒนาต่อยอดผลิตผลด้านการเกษตร โดยงานดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน ผู้ประกอบการ พ่อค้า ประชาชน และเกษตรกร