กรมปศุสัตว์ สนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผลักดันผลิตภัณฑ์เป็ดมูโนะ เป็นสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นจังหวัดนราธิวาสสู่ตลาดคนเมือง เผยเป็นเป็ดพันธุ์ผสมมาจากเป็ดเนื้อพันธุ์อีเหลียงที่ให้ไข่ดกกับสายพันธุ์พระราชทานผสมกับเป็ดมัสโควี ทำให้เลี้ยงง่าย โตไว ทนโรค ที่ส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงในหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ เหมาะสมแก่การสร้างอันลักษณ์พื้นถิ่น ชี้จุดเด่นอยู่ที่การเลาะกระดูกออกจนได้เนื้อที่นุ่มมีความชุ่มฉ่ำ บรรจุถุงละครึ่งตัวพร้อมน้ำราดและ และน้ำจิ้มรสเด็ดสูตรโบราณ
วันจันทรที่ 18 กันยายน 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินงานวันลองกอง ครั้งที่ 46 ประจำปี 2566 ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดนราธิวาส โดยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วย นายจักรพงษ์ ขานโบ ปศุสัตว์จังหวัดนราธิวาส, นายอำพล วริทธิธรรม ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์, และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่ากรมปศุสัตว์นำเสนอผลการดำเนินงานเรื่องการพัฒนา การแปรรูปและการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์เป็ดมูโนะที่มีการส่งเสริมการเลี้ยงให้เกษตรกรในพื้นที่หมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ สนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามนโยบายหลักของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติ โดยประยุกต์ให้สอดคล้องเหมาะสมกับชุมชนและพื้นที่ ช่วยให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์มากขึ้น บนพื้นฐานทรัพยากรของท้องถิ่นนั้นๆ
กรมปศุสัตว์จะมุ่งสร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ชุมชนยั่งยืน โดยการส่งเสริมการเลี้ยงเป็ดมูโนะในพื้นที่หมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ประมาณ 2,400 ไร่ เพื่อจัดสรรที่ดินให้สมาชิกครอบครัวละ 15 ไร่ สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและทางการเกษตรด้วยครอบครัวละ 3 ไร่ ซึ่งสมาชิกแต่ละครอบครัวจะมีรายได้จากการเลี้ยงสัตว์เป็นรายได้หลัก และมีรายได้จากการเกษตรเป็น รายได้เสริม ซึ่งเป็ดมูโนะมีสายพันธุ์ผสมมาจากเป็ดอีเหลียงซึ่งเป็นเป็ดเนื้อที่ให้ไข่ดกสายพันธุ์พระราชทานผสมกับเป็ดมัสโควี (Muscovy Duck) ทำให้ได้เป็ดพันธุ์พื้นเมืองมูโนะที่เลี้ยงง่าย โตไว ทนโรค เหมาะสมแก่การสร้างอันลักษณ์พื้นถิ่นจังหวัดนราธิวาส
ในการนี้กรมปศุสัตว์ จึงมีการพัฒนาการแปรรูปและการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์เป็ดมูโนะไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ณ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยทำเป็นผลิตภัณฑ์ “เป็ดมูโนะย่าง” และ “เป็ดมูโนะพะโล้”
จุดเด่นอยู่ที่การเลาะกระดูกออกจนได้เนื้อที่นุ่มมีความชุ่มฉ่ำ บรรจุถุงละครึ่งตัวพร้อมน้ำราด ที่เคียวด้วยไฟอ่อนจนได้ที่ และน้ำจิ้มรสเด็ดสูตรโบราณ ผ่านกระบวนการเก็บรักษาด้วยการแช่แข็งที่อุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียส การแปรรูปเป็ดมูโนะ ทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าขึ้น โดยจากวัตถุดิบเป็ดมูโนะ ตัวละ 1.5 กิโลกรัม ราคา 200 บาท เมื่อนำไปแปรรูปเป็ดมูโนะพะโล้แล้วจะสามารถขายได้ตัวละ 730 บาท ส่วนเป็ดมูโนะย่าง จะสามารถขายได้ตัวละ 780 บาท ทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าแก่เป็ดมูโนะ ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นตัวใหม่ของจังหวัดนราธิวาส และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดมูโนะในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
วิธีการบริโภคเป็ดมูโนะ กรมปศุสัตว์นำเสนอการบริโภคในรูปแบบเป็ดมูโนะพะโล้และเป็ดมูโนะย่าง ในส่วนของเป็ดมูโนะพะโล้สามารถบริโภคเนื้อเป็ดพะโล้พร้อมกับน้ำพะโล้ และน้ำจิ้มเป็ดพะโล้รสเด็ด ส่วนของเป็ดมูโนะย่างนั้นสามารถรับประทานได้ทั้งในรูปแบบเนื้อเป็ดย่างคู่กับน้ำราดเป็ดและน้ำจิ้มเป็ดย่าง นอกจากนั้นยังสามารถนำเป็ดมูโนะย่างไปประกอบเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น แกงคั่วเป็ดมูโนะย่าง ผัดเปรี้ยวหวานเป็ดมูโนะย่าง สลัดเป็ดมูโนะย่าง เป็นต้น
ในส่วนของชิ้นส่วนเป็ดที่เหลือจากการตัดแต่ง เช่น ขา ปลายปีก และคอเป็ด สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าโดยการนำไปต้มพะโล้ได้อีกด้วย โดยองค์ความรู้จากการ แปรรูปเป็ดมูโนะในครั้งนี้ กองผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์จะนำไปถ่ายทอดและส่งเสริมให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดมูโนะในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จนถึงการส่งเสริมด้านการตลาดและบรรจุภัณฑ์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงต่อความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน มีการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดให้เกษตรกรสามารถส่งผลิตภัณฑ์เป็ดมูโนะจากนราธิวาสสู่ตลาดคนเมือง ณ ร้านค้าสวัสดิการกรมปศุสัตว์ Livestock Farm Outlet ถนนพญาไท กรุงเทพมหานคร ตลอดจนลูกค้าทั่วประเทศสามารถสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ส่งตรงจากนราธิวาส สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร กรมปศุสัตว์พร้อมผลักดันผลิตภัณฑ์เป็ดมูโนะไปสู่สินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น การันตีถึงคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าวเป็นผลมาจากความแตกต่างของสภาพภูมิประเทศและวัฒนธรรม
ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือประชาชน มีความประสงค์จะขอรับคำปรึกษา เข้าร่วมกิจกรรมโครงการ หรือสอบถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่กองผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ โทรศัพท์ 02-6534444 ต่อ 3375 หรือทาง Facebook : กองผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ https://www.facebook.com/profile.php?id=100064378523814 /.