เกษตรกรฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ กวาดล้าง“หมูเถื่อน”

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…วิศาล  พูลเพิ่ม นักวิชาการอิสระด้านปศุสัตว์

ประเทศไทยได้ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เป็นที่เรียบร้อย ปัญหาหมูเถื่อนขอเข้าเป็นคิวแรกๆ ที่ต้องการให้รัฐบาลเศรษฐาช่วยเคลียร์ปัญหาที่เกษตรกรต้องเผชิญมาเป็นเวลากว่าปี

นับจากการระบาดของ ASF ในสุกร ที่ไทยประกาศยอมรับว่าเกิดขึ้นในประเทศเมื่อต้นปี 2565 ทำให้แม่พันธุ์หายไปประมาณ 1.2 ล้านตัวหรือครึ่งหนึ่งของระบบ  ผนวกกับวงการหมูประสบภาวะราคาตกต่ำก่อนหน้านี้  ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่หายไปรวม 1 แสนราย ส่งผลให้ปริมาณหมูเป็นในประเทศลดลงมากกว่าครึ่ง  ส่งผลให้ช่วงนั้นราคาเนื้อหมูขยับสูงขึ้น กลายเป็นช่องว่างที่ทำให้มีผู้เห็นช่องทางในการลักลอบนำเข้าหมูผิดกฎหมายราคาถูกมาทำกำไร

สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับตลาดเนื้อหมู  คือ ราคาสูงขึ้นในช่วงสั้นๆเท่านั้น  ทั้งๆที่ความต้องการบริโภคยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เรียกว่าไม่เป็นไปตามกลไกตลาดที่ว่า หากมีความต้องการสูง ในภาวะที่สินค้ามีน้อย ราคาจะต้องสูงขึ้น  สะท้อนว่า ในท้องตลาดมีเนื้อหมูเพียงพอกับความต้องการ ทั้งที่ปริมาณหมูมีชีวิตในประเทศมีน้อย เท่ากับว่า ปริมาณเนื้อหมูจำนวนมากที่มีนั้น ไม่ได้มาจากการเลี้ยงของเกษตรกรผู้เลี้ยงในประเทศ

คำถามที่เกิดตามมาคือ เนื้อหมูเหล่านั้นมาจากไหน   เพราะหมูที่เลี้ยงในประเทศยังอยู่ระหว่างการฟื้นฟู ซึ่งกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี เหมือนอย่างที่จีน ซึ่งประสบปัญหา ASF ผลผลิตหมูหายไปนานประมาณ 2 ปี

ด้วยช่องว่างในระเบียบทางศุลกากร ที่สามารถแสดงสินค้าได้ในช่องกรีนไลน์ ทำให้การตรวจจะเป็นการสุ่มตรวจ กลายเป็นช่องโหว่ของการลักลอบ และในความเป็นจริง น่าจะพินิจพิเคราะห์หรือไม่ กับความผิดปกติของการนำเข้าเนื้อปลา หรือสินค้าเยือกแข็งผ่านช่องกรีนไลน์ของการตรวจของกรมศุลกากรที่มีปริมาณสูงกว่าปกติถึง 250 %

ในเรื่องนี้ภาคเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้งจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคใต้  ได้ประสานเสียงออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบอกกล่าวถึงปัญหาของหมูเถื่อน หรือหมูกล่องที่ลักลอบนำเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา  แต่จนถึงปัจจุบันกลับยังไม่สามารถหยุด หรือยับยั้งขบวนการนี้ได้

นอกจากนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่ต้นปี 2565 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทำให้ราคาสูงขึ้นกว่า 30% ยิ่งล่าสุดรัสเซียประกาศไม่รับรองความปลอดภัยเรือขนส่งสินค้าที่ไปยังท่าเรือยูเครน ส่งผลให้ราคาธัญพืชและวัตถุดิบอาหารสัตว์หลัก โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลี มีราคาเพิ่มขึ้นแล้ว 5-10% กระทบต่อต้นทุนการเลี้ยงหมูโดยตรง

ก่อนหน้านี้ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ให้ข้อมูลว่า เรื่องนี้มีผลประโยชน์นับแสนล้าน ประเมินจากแต่ละตู้ที่ขนเข้ามามีต้นทุนและกำไรรวมกันประมาณ 3,750,000 บาทต่อตู้ และการข่าวบอกว่ามีตู้เหล่านี้มากถึง 2,000 ตู้ ในช่วงปี 2565-2566 เชื่อว่าตอนนี้ตู้เหล่านั้นยังคงซุกซ่อนอยู่ที่ท่าเรือ ซึ่งเกษตรกรทั่วประเทศร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกสมาคม พร้อมผลักดันทุกวิถีทาง เพื่อให้ภาระกิจทวงคืนตลาดหมูให้กับเกษตรกรไทย  ทวงคืนสุขภาพและความปลอดภัยทางอาหารของคนไทยกลับมาสำเร็จโดยเร็วที่สุด

ขอฝากความหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน เข้ามาช่วยกวาดล้างปัญหาใหญ่ของเกษตรกร ล้างบางหมูเถื่อนให้สิ้นซาก ปราบปรามกลุ่มที่คนที่หวังผลประโยชน์บนความทุกข์ของคนไทย.