พิษซากสุกรเถื่อนทะลัก ผู้เลี้ยงหมูในไทยเหลือ 5 หมื่นราย จี้รัฐเร่งตรวจสอบด่วน “หมูเถื่อน” กว่า 2 ล้าน กก. ยังกบดาน

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…อาบอรุณ ธรรมทาน นักวิชาการอิสระ

“หมูเถื่อน” กลายเป็นหัวข้อสำคัญที่ผู้เลี้ยงหมูไทยทั่วประเทศกล่าวขานมาตลอดในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากหมูเถื่อนทะลักเข้ามาจำนวนมหาศาลและเป็นตัวการสำคัญที่แทรกแซงตลาดทำให้ราคาหมูไทยร่วงหล่นต่อเนื่อง เกษตรกรที่หวังว่าจะฟื้นฟูฟาร์มหลังควบคุมการระบาดของ ASF ได้ดีขึ้น กลับต้องเผชิญชะตากรรมครั้งใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากทั้งราคาและความเสี่ยงจากโรคระบาดที่อาจติดมากับเนื้อหมูผิดกฎหมาย จนต้องหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อรักษาอาชีพไว้

ล่าสุด ตัวแทนกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยและรายเล็กทั่วประเทศ ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงหัวหน้าพรรคก้าวไกล จากราคาหมูเถื่อนที่ขายถูกมาก ทำให้หมูไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้และยังดึงราคาให้ตกต่ำตามไปด้วย จึงอยากให้มีการตรวจสอบว่ายังมีหมูเถื่อนเข้ามาอีกหรือไม่ การตรวจสอบมีความรัดกุมมากน้อยแค่ไหน การขายหมูเถื่อนในราคาต่ำกว่าทุน หรือเรื่องนี้จะมี “ส่วยหมูเถื่อน” จึงทำให้หมูเถื่อนเล็ดลอดเข้ามาทำลายห่วงโซ่การผลิต  เป็นผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยเลิกอาชีพไป จากที่เคยมีกว่า 280,000 ราย เหลือเพียงกว่า 50,000 ราย จึงอยากให้ภาครัฐดึงราคาขึ้นมาอยู่ที่ระดับสมดุล คือ ต้นทุนการผลิตและราคาเป็นไปตามกลไกตลาด และปราบปรามอย่างต่อเนื่องให้หมด

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเชื่อว่ายังมีหมูเถื่อนอีกจำนวนมากตกค้างอยู่ในไทย จากหลักฐานการจับกุมห้องเย็นในจังหวัดสมุทรสาครล่าสุด พบหมูเถื่อนมากกว่า 10,000 กิโลกรัม แสดงให้เห็นว่าหมูเถื่อนยังหาทางออกมาเพ่นพ่านในตลาด และเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา กรมศุลกากรเปิดตู้สินค้าตกค้าง 161 ตู้ พบหมูเถื่อน 4.5 ล้านกิโลกรัม เป็นล็อตใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจับกุมมา ซึ่งหมูเถื่อนดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิสูจน์หลักฐาน เพื่อให้กรมปศุสัตว์ทำลายซากต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 นายฐิติพงศ์ คำผุย ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร 1 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ระบุว่า ตู้สินค้าที่รอเปิดเพื่อตรวจสอบมีเพียง 60 ตู้ และอีกประมาณ 90 ตู้ มีหนังสือแจ้งผ่อนผันจากบริษัทนำเข้า ซึ่งจะเร่งรัดให้ดำเนินการเคลียร์ตู้สินค้าที่เหลือให้แล้วเสร็จในเดือน มี.ค.2566 จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า กรมฯ ดำเนินการอย่างไรกับตู้สินค้าขอผ่อนผันฯ 90 ตู้  หากขนาดบรรจุ 25 ตันต่อตู้ และเป็นหมูเถื่อนจริง เท่ากับว่าหมูเถื่อนยังอยู่ในไทยไม่น้อยกว่า 2.25 ล้านกิโลกรัม รัฐบาลจึงควรเร่งให้มีการเปิดตู้ผ่อนผันดังกล่าวด้วยความโปรงใส และดำเนินการตามกฎหมายทันที เพื่อนำสู่การทำลายซาก และเปิดโอกาสให้การขายหมูไทยกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติอีกครั้ง

ตั้งแต่ปี 2565-ปัจจุบัน ภาครัฐจับกุมหมูเถื่อนแล้วมากกว่า 5 ล้านตัน แต่ยังมีชิ้นส่วนหมูผิดกฎหมายทยอยระบายออกสู่ตลาดอย่างเนื่อง หากแต่การปราบปรามอย่างเข้มแข็งของภาครัฐ ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาทำให้การค้าหมูเถื่อนฝืดเคือง หนทางหากินไม่สะดวกอีกต่อไป จำต้อง “กบดาน” อยู่ในที่ซ่อนหนีการจับกุม รอจังหวะเหมาะในการเคลื่อนย้ายออกมาอาละวาดใหม่ ซึ่งที่หลบซ่อนหลักของหมูเถื่อน คือ ห้องเย็น ในจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม สระแก้ว รวมถึงมุกดาหารและเชียงใหม่

หากสิ่งที่ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศคาดการณ์ไว้แม่นยำ แสดงว่ายังมีหมูเถื่อนอีก 2.25 ล้านกิโลกรัม หมุนเวียนอยู่ในไทย จึงขอให้ภาครัฐเร่งตรวจสอบห้องเย็นทั่วประเทศไทย แบบปิดประตูกวาดล้าง “หมูเถื่อน” ให้สิ้นซาก  หมดโอกาสมาทำร้ายเกษตรกรไทย และคืนสมดุลการค้าและกลไกตลาดที่เป็นธรรม สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาฟื้นฟูอาชีพ “เลี้ยงหมู” สร้างเนื้อสัตว์ปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารให้คนไทย มีเนื้อหมูบริโภคในราคาที่เหมาะสมและเพียงพอ