หมูไทยโดนรุม “กินโต๊ะ” ทั้งหมูเถื่อน-หมูจากประเทศเพื่อนบ้าน
นรชาติ สรงอินทรีย์ ที่ปรึกษาด้านปศุสัตว์
หมูไทยยังวนเวียนอยู่ในวังวนของปัญหา หลังผจญกับโรคระบาด ASF เมื่อปีที่ผ่านมา จนต้องทำลายทั้งแม่หมูและหมูขุนไปทั้งประเทศไม่น้อยกว่า 50% ของผลผลิตรวมของไทย และยังไม่สามารถฟื้นฟูผลผลิตได้ 100% จนถึงขณะนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกล้าๆ กลัว ที่จะนำหมูเข้าเลี้ยงรอบใหม่ คือ “หมูเถื่อน” ที่ลักลอบนำเข้ามาขายราคาต่ำกว่าต้นทุนหมูไทย ราคาหมูไทยให้ตกต่ำและไม่มีเสถียรภาพจนเกษตรกรขายผลผลิตด้วยความยากลำบาก และโอกาสหมูเถื่อนจะเป็นพาหะนำเข้าโรค ASF มาระบาดซ้ำอีกครั้งก็เป็นไปได้สูง
นายสัตวแพทย์ จากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้เตือนให้ระวังเกี่ยวกับ “หมูเถื่อน” ที่นำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนหมูแช่แข็ง และดั๊มพ์ราคาขายในไทยได้เพราะเป็นชิ้นส่วนที่ประเทศต้นทางไม่นิยมบริโภค หรือ เป็นหมูที่มีปัญหาติดโรคระบาดสัตว์ และไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ ทำให้มีการส่งออกมาไทยในราคา “ขายทิ้ง”และสะดวกต่อการจัดจำหน่าย ขายปนกับหมูไทยบนเขียงหมูในตลาดสดแบบแยกไม่ออก หรือ นำเสนอขายแบบทั้งกล่องให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งหมูเถื่อนคือ “ภัยร้าย” ต่อสุขภาพคนไทยทั้งประเทศ
นอกจาก “หมูเถื่อน” จะเป็นปัจจัยทำให้หมูไทยไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว ขณะนี้หมูไทยยังเจอปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูแช่แข็งและหมูร้อน จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาตามแนวตะเข็บชายแดนทั้งจาก ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งคาดการณ์ว่าหมูแช่แข็งที่ลักลอบนำเข้าตามช่องทางนี้ เป็นหมูเถื่อนที่เปลี่ยนเส้นทางจากเมืองไทยไปหาช่องทางใหม่ หลังการมีการจับกุมอย่างจริงจังช่วงไตรมาส 4 ในปี 2565
ที่สำคัญ ภาคปศุสัตว์ของทั้ง ลาว กัมพูชา เวียดนาม มีแต้มต่อด้านต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ต่ำกว่าไทยมาก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายนำเข้าเสรี ขณะที่กัมพูชามีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ต่างจากนโยบายของรัฐบาลไทยที่คุ้มครองพืชไร่ โดยกำหนดทั้งมาตรการภาษีและโควต้านำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง โดยกำหนดราคาขั้นต่ำในการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ไม่กำหนดราคาเพดานขั้นสูง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้
จากนโยบายดังกล่าว ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์ในประเทศเหล่านี้ต่ำกว่าไทยมาก ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มจึงจูงใจให้มีการลักลอบส่งออกหมูร้อนมาหาประโยชน์ส่วนต่างราคาในประเทศไทย โดยเฉพาะลาวและกัมพูชา ที่มีพรมแดนติดกับไทยได้ไม่ยาก ผ่านจังหวัดสระแก้ว อุบลราชธานี และมุกดาหาร
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นโอกาสที่ “หมูไทย” จะฟื้นฟูการผลิตให้กลับมาอยู่ที่ 18-19 ล้านตัวต่อปี ตามที่รัฐบาลวางเป้าหมายไว้คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความผันผวนของราคาทั้งหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มและราคาเนื้อสตว์ที่ยังไม่มีเสถียรภาพ เป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เลี้ยงหมู โดยเฉพาะ “หมูเถื่อน” ยังคงกดดันราคาหมูไทยขายได้ต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิตในปัจจุบัน เนื่องต้นทุนการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์และปัจจัยการผลิตอื่นทั้งเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันโรค ต้นทุนพลังงาน ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประเมินต้นทุนการผลิตช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 อยู่ที่ 100.30-101.06 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับราคาที่ผู้เลี้ยงหมูไทยขายได้แล้วขาดทุนแน่นอน
วันนี้ หากต้องการให้ผู้เลี้ยงหมูไทยยืนหยัดเดินหน้ากิจการต่อไปได้ และฟื้นฟูผลผลิตหมูได้ตามเป้าหมายเพียงพอต่อการบริโภคในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ผู้บริโภคอยู่ได้ ผู้เลี้ยงอยู่รอด สำคัญที่สุดคือ “หมูไทย” ปลอดภัยกว่า “หมูเถื่อน” เพราะหมูไทยมีการตรวจสอบคุณภาพและสารปนเปื้อนตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภคทุกคน ดังนั้นภาครัฐควรมีมาตรการเด็ดขาดในการกำจัดหมูเถื่อนให้หมดไป เพื่อเปิดทางให้คนไทยได้บริโภคเนื้อสัตว์คุณภาพดี แทนหมูเถื่อนราคาถูกพร้อมของแถมที่มองไม่เห็น./