ถอดบทเรียน “หมูเถื่อน” วนเวียนเข้า-ออกไทย แค่เปลี่ยนทิศจากแหลมฉบัง มาสู่ชายแดน…เกษตรกรต้องระวังตัว

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ปราบดา มหากุศล นักวิจัยด้านการเกษตร

ปี 2565 ที่ผ่านมา “หมูเถื่อน” ให้บทเรียนกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทยไม่น้อย โดยเฉพาะความยากลำบากของเกษตรกรผู้เลี้ยง ทั้งจากความเสี่ยงของโรคระบาด ASF ที่มีโอกาสเกิดซ้ำได้ หากไม่ป้องกันเข้มแข็ง ทำให้ผลผลิตหมูยังลุ่มๆ ดอนๆ กลับไปยืนที่เดิม 18-19 ล้านตัวต่อปีไม่ได้ และจากราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะผู้เลี้ยงร่วมมือภาครัฐช่วยตรึงราคาไว้ 100 บาทต่อกิโลกรัม เป็นปี แต่ตอนนี้ราคาลงมาต่ำสุดที่ 86 บาทต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าต้นทุนเฉลี่ยที่ 90 บาทต่อกิโลกรัมด้วยซ้ำ เพราะถูก “หมูเถื่อน” นับเป็นการบิดเบือนราคา กระทบผู้เลี้ยงไทยต้องหวั่นใจไม่กล้านำหมูรุ่นใหม่เข้าเลี้ยง

บทเรียนวันที่ 10 มกราคม 2565 ไทยประกาศพบโรคระบาด ASF

เป็นเวลาครบ 1 ปี หลังการประกาศดังกล่าวที่ กรมปศุสัตว์ ระบุว่าปริมาณสุกรแม่พันธุ์และจำนวนสุกรขุนหายไป 50% ผลผลิตในปีที่ผ่านมาเหลือเพียง 15 ล้านตัวเท่านั้น ส่งผลให้ราคาในประเทศปรับขึ้นตามลำดับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นมา และปรับลงบ้างหลังเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เช่น กรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร ร่วมกันตรวจสอบห้องเย็นทำให้สต๊อกระบายออกสู่ตลาด ราคาหมูเนื้อแดงเฉลี่ยเคยปรับไปสูงสุดถึง 210 บาทต่อกิโลกรัม ตามกลไกตลาด   เวลานั้นร้านหมูปิ้ง-หมูสเต๊ะต้องขอปรับขึ้นราคาไม้ละ 1-2 บาท ร้านอาหารตามสั่งขอปรับราคาขึ้นจานละ 5 บาท

จุดเริ่มต้น “หมูเถื่อน” ราคาเนื้อหมูแพงเป็นประวัติการณ์ในไทย คือ “โอกาสทอง” ของ “โจร”

การปรับราคาหมูเนื้อแดงขึ้นตามอุปสงค์ อุปทาน  กลายเป็นช่องทางของกระบวนการลักลอบนำเข้าหมูจากต่างประเทศ สบช่องเอาหมูนอกเข้ามาทำกำไรก้อนโต การลักลอบมาในรูปแบบของชิ้นส่วนแช่แข็งราคาต่ำ เพราะเมื่อรวมกับค่าขนส่งถึงไทยยังสามารถขายได้ในราคา 135-145 บาทต่อกิโลกรัม สัตวแพทย์ลงความเห็นว่าขายราคาต่ำขนาดนี้ได้ อาจเป็นหมูติดโรค มีเชื้อรา หรือ สารปนเปื้อนอื่นๆ โดยเฉพาะสารเร่งเนื้อแดงที่หลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศอนุญาตให้ใช้ในการเลี้ยงหมูได้อย่างเสรี ชิ้นส่วนหมูส่วนใหญ่ เป็นส่วนที่ประเทศต้นทางไม่นิยมบริโภค และต้องการกำจัดทิ้งอยู่แล้ว สรุปคือไทยรับ “หมูขยะ” มาบริโภคต่อนั่นเอง

 เข้ามาไทยได้อย่างไร ท่าเรือแหลมฉบังเป็นแหล่งพักขนาดใหญ่

ผู้เลี้ยงหมูประสานเสียงชี้เป้าเดียวกันตั้งแต่เริ่มต้นว่า แหลมฉบังคือศูนย์กลางพักสินค้าหมูลักลอบ ก่อนจะกระจายไปจำหน่ายทั่วประเทศ มีต้นทางมาจากบราซิล สหรัฐฯ  เดนมาร์ก เม็กซิโก สเปน เยอรมันนี เนเธอร์แลนด์  โดยกรมศุลกากร ยืนยันว่ามีการสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเล หรือวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ หรือซุกซ่อนมาในตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ตรวจไม่พบ   แม้จะติดตั้งเทคโนโลยีสแกนขั้นสูงสำหรับตู้สินค้า  ในปีที่ผ่านมามีการจับกุมโดยกรมศุลกากร 5 ครั้ง  และเป็นการจับกุมสินค้านอกท่าเรือทั้งสิ้น  งานนี้ถ้าจับได้ที่ท่าเรือต้นทาง และส่งดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด  จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร และประชาชนคนไทยได้เป็นอย่างมาก

”หมูเถื่อน” พักรอตามห้องเย็นเป้าหมายในหลายจังหวัด

พบว่าห้องเย็นในหลายจังหวัด ทั้งสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และเชียงใหม่  เป็นแหล่งพักเพื่อรอการกระจายสินค้าตามคำสั่งซื้อ จนถึงขณะนี้ภาครัฐยังจำเป็นต้องตรวจสอบห้องเย็นเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง กำหนดเป็นแผนปูพรมทุกจังหวัด กวาดล้างให้สิ้นซาก  เพราะ “หมูเถี่อน” ยังมีอยู่จริง ที่สำคัญหมูผิดกฎหมายเหล่านี้ ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์ เกิดอะไรขึ้นกับผู้บริโภคหาผู้รับผิดชอบไม่เจอ ที่สำคัญการเคลื่อนย้ายหมูอมโรคเหล่านี้เป็นการแพร่โรคระบาดสัตว์ไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทยอย่างที่ยากจะควบคุม  ทำให้โอกาสเกิดโรค โดยเฉพาะ ASF ซ้ำมีมาก

ภาครัฐต้องตรวจจับจริง

ครึ่งแรกปี 2565 ทั้งกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร จับกุมหมูเถื่อนร่วมกันได้ไม่เกิน 10 ครั้ง พอได้เป็นข่าวบ้าง แต่เทียบกับราคาที่ตกลงและเกษตรกรขายหมูหน้าฟาร์มไม่ได้ หมูเถื่อนขาย “ฉลุย” หมูไทยขาย “ชะลอ” ทั้งที่หมูไทยปลอดภัยกว่า 100 เท่า แต่ปล่อยให้หมูเถื่อนขายกันโจ๋งครึ่ม ผ่านช่องทางโซเชียล เฟสบุ๊ค ช้อปขายหมู ลูกค้าหลัก คือ ร้านหมูกระทะ ร้านอาหารตามสั่ง ร้านอาหารอีสาน

หลังจากฤดูกาลโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการของภาครัฐ กรมปศุสัตว์ ได้จัดทัพใหม่ ส่งมือปราบปศุสัตว์ได้สนธิกำลังตำรวจ-ทหาร มาช่วยผู้เลี้ยงหมูไทยให้อยู่รอด  เร่งจับห้องเย็นสัปดาห์ละ 1-2 แห่ง แทบทุกสัปดาห์ ราคาหมูไทยดีขึ้นจนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ออกมาขอบคุณ อธิบดีกรมปศุสัตว์คนใหม่ สมชวน รัตนมังคลานนท์ และเจ้าหน้าที่  ขอให้ดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสและความมั่นใจให้กับผู้เลี้ยงหมู

ปราบหนัก “หมูเถื่อน” เปลี่ยนทิศ ทะลักจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

ขบวนการลักลอบนำเข้าหมู เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการขายหนีการจับกุม หาช่องทางใหม่  ย้ายจากท่าเรือแหลมฉบัง ที่สินค้าออกจากท่าเรือลำบากมากขึ้น เพราะต้องผ่านการตรวจสอบเข้มงวด  ออกมาได้ยังต้องเสี่ยงเจอด่านตรวจอีก  จึงหันหัวเรือเข้าเวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ลัดเลาะเข้าไทยตามตะเข็บชายแดนด้วยกองทัพมด ผ่านทางมุกดาหาร อุบลราชธานี สระแก้ว สงขลา เชียงราย

ผลงานสำคัญของการปราบปรามอย่างหนักที่ปรากฎ คือ ต้นปี 2566 กรมปศุสัตว์ เป็นเจ้าภาพการฝังทำลายชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรของกลางมากถึง 723,786 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 123 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ คาดการณ์ว่านั่นเป็นเพียง 5% ของหมูทั้งหมดที่มีการลักลอบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การทำลายซากครั้งนี้ ส่งสัญญาณไปถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐให้ปราบปรามเคร่งครัดและรัดกุม อย่าให้เกษตรกรและผู้บริโภคได้รับความเดือนร้อนจาก “หมูเถื่อน”

จุดสำคัญที่สุดของการถอดบทเรียนหมูเถื่อนครั้งนี้ คือ ภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องผนึกกำลังกันปราบให้จริงจังและเข้มแข็งมากขึ้น ต้องตรวจจับ ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค ผู้เลี้ยงสุกร และประเทศชาติ

บทเรียนต่อไปที่ภาครัฐควรเดินหน้าต่อคือ การจับกุมตัวการใหญ่ ที่ทำให้เกิดขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนมาลงโทษสูงสุดตามกฎหมาย ทั้งจำทั้งปรับ ไม่ให้เกิดการเลียนแบบ เพราะโทษเกิดกับคนไทยและผู้เลี้ยงหมูทั้งประเทศ