โดย…พบพระ เกศสุข ที่ปรึกษาด้านปศุสัตว์
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พบข่าวกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พูดเรื่องราคาสินค้ามีแนวโน้มลดลงหลายรายการ โดยเฉพาะ หมู ไก่ ไข่ บอกว่าราคาลงแล้วและจะทยอยลดลงอีก เช่น เนื้อหมู ปรับลดลง 2% จากกิโลกรัมละ 172 บาท เหลือ 168 บาท เนื้อไก่ลดลง 3% อาทิ เนื้อน่องจากกิโลกรัมละ 75 บาท เหลือ 73 บาท ไข่ไก่เบอร์ 3 ราคาฟองละ 3.90 โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรลดลงจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาก และ เร็วๆ นี้ กรมฯ จะเชิญสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อหามาตรการในการเชื่อมโยงตลาดเนื้อหมูออกจากแหล่งผลิต เพื่อให้เกิดความสมดุลด้านราคา อ่านในฐานะผู้บริโภคก็จะสดชื่นเพราะราคาอาหารจะลดลง แต่อ่านในฐานะเกษตรกรไม่ว่าจะผู้เลี้ยงหมู ไก่ หรือ ไก่ไข่ คงอยู่ในภาวะ “น้ำตาตกใน” ทั้งสิ้น
มีคำถามภาครัฐ ว่า ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจตลาด ครอบคลุมภาคการผลิตด้วยหรือไม่? หากภาครัฐ ทำหน้าที่กำกับดูแลให้กลไกตลาดทำงานสมบูรณ์ ราคาก็จะสะท้อนความเป็นจริงตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน อุปสงค์-อุปทาน นักเศรษฐศาตร์อาวุโสหลายท่านชี้แนะมาตลอด แต่ที่ผ่านมามาตรการ คือ “ตรึงราคา” วิธีการนี้อาจจะเหมาะกับสินค้าบางประเภทที่มีสต๊อกจำนวนมาก เช่น สบู่ ยาสระผม ผงซักฟอก เมื่อไม่ให้ปรับราคา ผู้ผลิตก็ลดขนาดบรรจุลง เพื่อชดเชยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เป็นการบริหารจัดการธุรกิจอย่างสมดุลของผู้ผลิต วิธีการเหล่านี้เป็นกลยุทธ์ที่ดำเนินการมาช้านานแล้ว ผู้บริโภครับทราบดี สินค้าขนาดเล็กลงในราคาเท่าเดิม… ภาครัฐประสบความสำเร็จในการตรึงราคา
สำหรับสินค้าเกษตรทั้งหมู ไก่ ไข่ ไม่สามารถลดปริมาณได้เหมือนสินค้าอื่น ซื้อเนื้อหมู 1 กิโลกรัมก็ต้องชั่งให้เต็มน้ำหนัก ขณะที่มองหาปัจจัยบวกทางการผลิตแทบไม่มี ภาคปศุสัตว์ยังคงประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง วัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาสูงเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะครบ 1 ปี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นี้ ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ปรับขึ้นเฉลี่ย 30% ทั้ง 2 รายการ ยังมีค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า ที่เดินแถวปรับขึ้นราคากันไม่หยุดยั้ง ที่สำคัญภาครัฐช่วยภาคการผลิตเพียงชั่วคราว ทั้งที่มาตรการกำหนดโควต้านำเข้า มาตรการภาษี และกลไกราคาอยู่ในมือภาครัฐทั้งสิ้น…อยู่ที่ว่าภาครัฐจะเลือกใคร?
ส่วนกรณี เนื้อหมูที่ราคาถูกลงเพราะผลผลิตเพิ่มขึ้น เป็นข้อมูลส่วนหนึ่ง ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานสถานการณ์สุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ทุกวันพระเป็นข้อมูลฝั่งเกษตรกร ล่าสุดรายงานเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า การค้าสุกรขุนเข้าสู่วัฏจักรที่ผู้เลี้ยงสุกรทั้งระบบต้องบริหารจัดการกันเอง (พึ่งพาตัวเอง) สุกรขุนมีชีวิตเริ่มผลักดันผ่านด่านเชียงแสน สู่ สปป.ลาว ที่มีราคาใกล้เคียงกับประเทศไทย ขายในประเทศขาดทุนจึงต้องไปขายต่างประเทศหรืออย่างไร? และในรายงานฉบับก่อนหน้านี้ ระบุ ตลาดการค้าสุกรขุนยังคงได้รับผลกระทบจากชิ้นส่วนสุกรลักลอบนำเข้า เพราะผลผลิตในปัจจุบันยังต่ำกว่าความต้องการบริโภค…ราคาในประเทศควรสูงแต่กลับต่ำ ภาครัฐได้ตรวจสอบหรือไม่ถึงสาเหตุที่แท้จริงของราคาที่ลดลง?
นอกจากนี้ ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังอยู่ในระดับสูงมาก ประกอบกับปริมาณลูกสุกรพันธุ์ที่ยังไม่เพียงพอส่งผลให้มีการเลี้ยงสุกรขุนให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น (ปล่อยให้หมูโตในเล้านานขึ้น ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น) กระทบคุณภาพซากที่มีส่วนไขมันมากที่ซ้ำเติมราคาจำหน่ายให้ลดลง และไปอ้างอิงราคาสุกรขุนขนาดปกติ ทำให้หลายภูมิภาคต้องปรับราคาจำหน่ายที่มีการย่อตัวตาม...
ประเด็นเหล่านี้ ภาครัฐได้ศึกษาอย่างถ่องแท้หรือไม่? ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มล่าสุดเฉลี่ยทั่วไทยอยู่ที่ประมาณ 90-96 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนผลิตทั้งปีที่ผ่านมาของสมาคมฯ อยู่ที่ประมาณ 95 บาทต่อกิโลกรัม ที่สำคัญการปราบปรามชิ้นส่วนสุกรนำเข้าตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติจริงสามารถจับได้ไม่เกิน 5% ของจำนวนลักลอบทั้งหมด (แปลว่าหมูเถื่อน เต็มบ้านเต็มเมือง กดราคาหมูไทยให้ต่ำไปด้วย) จึงถึงจุดที่ว่าหมูไทยขอไปตายต่างแดน…
ภาครัฐต้องตระหนักว่า “หมูเถื่อน” ลักลอบนำเข้าเป็นชิ้นส่วนแช่แข็ง ไม่ผ่านการตรวจสอบโรคและสารปนเปื้อน โอกาสเป็นหมูติดโรคจากต้นทางได้ จึงขายได้ในราคาต่ำมาก ปะปนอยู่บนเขียงหมูในตลาดสดแบบแยกไม่ออก อันตรายต่อสุขภาพคนไทย ทำร้ายทำเกษตรกรรายย่อย-รายเล็กไทยขาดทุนกิจการเดินหน้าต่อไมได้ เพราะราคาตลาดต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ภาครัฐอย่าละเลยความเดือดร้อนของเกษตรกร หากต้องพิจารณาอย่างรอบด้านและหาทางปราบ “หมูเถื่อน” ให้สิ้นซาก มีการตรวจสอบทั้งภาคการขายและภาคการผลิต เมื่อนั้นค่อยประกาศว่าราคาเนื้อหมูปรับลดลงแล้วจริงๆ