“หมูเถื่อน” ตามหลอนผู้เลี้ยง ที่รัฐต้องเร่งยกระดับกวาดล้าง

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย….วิศาล พูลเพิ่ม นักวิชาการด้านปศุสัตว์

“การปราบปรามหมูเถื่อนลักลอบนำเข้าที่รายงานนั้นไม่ถึง 5% ของปริมาณลักลอบนำเข้าจริง  มิฉะนั้น ราคาหมูหน้าฟาร์มคงไม่ลดลงจนต่ำกว่าต้นทุนการผลิตเช่นนี้”

หลังผ่านเดือนแรกของปีเถาะ ผู้เลี้ยงหมูไทยก็ต้องรับมือกับปัญหาราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มตกต่ำทันที เมื่อราคาร่วงจากกิโลกรัมละ 100 บาท มาอยู่ที่กิโลกรัมละ 90-98 บาท แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค (ราคาประกาศจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ วันที่ กุมภาพันธ์ 2566) สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เกษตรกรต้องแบกรับภาระขาดทุนอย่างหนัก โดยสาเหตุที่ราคาหมูอ่อนตัวลงนี้ไม่ได้เกิดจากปริมาณหมูที่เพิ่มขึ้นจนเกินความต้องการ ตรงกันข้ามผลผลิตหมูไทยยังไม่เพียงพอกับการบริโภคด้วยซ้ำ แต่ราคาที่ลดลงเกิดจากชิ้นส่วนหมู หรือ “หมูเถื่อน” ที่มีการลักลอบนำเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด

 “หมูเถื่อน” จึงเปรียบเสมือนภัยร้ายที่ตามหลอกหลอนผู้เลี้ยงหมูมากว่า ปี นับตั้งแต่ไทยเผชิญกับวิกฤตการระบาดของโรค ASF ส่งผลให้หมูหายไปจากระบบกว่า 50% ดันราคาเนื้อหมูสูงเป็นประวัติการณ์ เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” ไม่ผ่านการตรวจคุณภาพและความปลอดภัยมาขายในราคาถูกฟันกำไรจากส่วนต่าง โดยไม่สนใจผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ซึ่งหลังจากเกษตรกรผู้เลี้ยงออกมาแถลงข่าวให้สังคมให้ทราบถึงปัญหา กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็เดินหน้าปราบปรามหมูเถื่อนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะไตรมาส ของปี 2565 ที่มีการตรวจจับทำลายครั้งใหญ่ต่อเนื่อง จนมิจฉาชีพต้องหันหัวเรือจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้ง เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เพื่อเป็นฐานลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมาตามแนวชายแดนแทน ยืนยันได้จากรายงานการจับกุมกองทัพมดขนหมูเถื่อนอยู่เป็นระยะ

ถึงแม้เดือนกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ฝังทำลาย “หมูเถื่อน” ไปกว่า แสนกิโลกรัม แต่มิจฉาชีพก็ไม่ละความพยายามหาช่องทางลักลอบนำเข้า โดยเฉพาะตามแนวชายแดนอยู่ตลอดเวลา ดังเช่นรายงานการจับกุมล่าสุดที่เชียงรายและอุบลราชธานี แต่ผู้เลี้ยงเชื่อว่า การปราบปรามหมูเถื่อนลักลอบนำเข้าที่รายงานนั้นไม่ถึง 5% ของปริมาณลักลอบนำเข้าจริง  มิฉะนั้น ราคาหมูหน้าฟาร์มคงไม่ลดลงจนต่ำกว่าต้นทุนการผลิตเช่นนี้ เพราะไม่มีใครยอมเลี้ยงหรือขาย ทั้งๆ ที่ทราบว่าขาดทุนแน่นอน 

“หมูเถื่อน” เป็นปัญหาที่เกษตรกรแก้ไขด้วยตนเองไม่ได้  ขณะที่ผู้บริโภคชาวไทยยังต้องเสี่ยงกับ “หมูเถื่อน” คุณภาพต่ำ หมดอายุ มีสารอันตรายปนเปื้อน ที่มาจากความเห็นแก่ตัวของคนบางกลุ่มเท่านั้น และหากยังไม่จัดการ ”หมูเถื่อน” อย่างเด็ดขาด ก็เป็นการดับความหวังของไทยในการฟื้นฟูการผลิตสุกรสู่ภาวะปกติ เพื่อให้ชาวไทยได้บริโภคเนื้อหมูคุณภาพในราคาที่เหมาะสม

ภาครัฐต้องจัดการ “หมูเถื่อน” อย่างจริงจัง ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างเคร่งครัดรัดกุม ถือเป็นการยกระดับการปราบปราม “หมูเถื่อน” เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อระดมสรรพกำลังทั้งกรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร ตำรวจ และทหาร ร่วมมือกันทำงาน ซึ่งการยกระดับปราบปรามคงไม่เพียงแต่การตรวจจับที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น แต่เพื่อถอนรากถอนโคน “หมูเถื่อน” ให้สิ้นซาก ไม่ใช่จับเพียงคนขับรถขนส่ง หรือเจ้าของห้องเย็นที่รับฝากซากหมูเถื่อนเท่านั้น แต่ต้องสืบสวนขยายผลไปให้ถึง “ตัวการใหญ่” แล้วจับมาลงโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายงานการจับกุมตัวการได้แม้แต่ครั้งเดียว เพราะหากจัดการตัวการได้ก็จะป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ถือเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ดูแลผู้บริโภค และช่วยให้ผู้เลี้ยงหมูไทยอยู่ได้ต่อไป.