การเก็บผลผลิต “จิ้งหรีด-สะดิ้ง” ให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ

  •  
  •  
  •  
  •  

      “ขั้นตอนในการจับไม่ยุ่งยากแต่ใช้เวลาครับ เน้นเลยในส่วนของกลุ่มจิ้งหรีดหรือแมงสะดิ้งที่อยู่บนพื้นบ่อเราจะไม่จับ เราจะจับที่อยู่ในแผงไข่กับอยู่ที่ผนัง นั้นคือจิ้งหรีดที่มีชีวิตอยู่ จิ้งหรีดที่มีความแข็งแรง ในขณะที่อยู่บนพื้นเราไม่มั่นใจว่าตายไหม ตายมานานหรือยัง จะมีผลต่อคุณภาพของแมลงที่เราส่งขายด้วย”

ฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลงในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะส่งขายแมลงแบบเป็นตัว โดยแมลงที่นิยมเพาะเลี้ยง เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมงป่อง ดักแด้ หนอนรถด่วน ด้วง มด  แต่ที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ คือ จิ้งหรีด ซึ่งพบว่า ตลาดทั่วโลกขยายตัวต่อเนื่อง แต่กระนั้นต้องเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพที่ผ่านการเลี้ยงอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความสะอาดและปลอดภัย

การเก็บผลผลิตจิ้งหรีดหรือแมงสะดิ้ง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญ ซึ่งเกษตรกรคนเก่งในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แห่ง อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น  “ภูดิศ หาญสวัสดิ์” ได้ถ่ายทอดความรู้ไปสู่สมาชิกในกลุ่ม เพราะการเก็บหรือจับผลผลิตเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จและให้ได้คุณภาพ

ภูดิส เล่าว่า การเลี้ยงมาตั้งแต่ตัวเล็กๆจนมาถึงเต็มวัย จนถึงช่วงเก็บผลผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตามที่ตลาดต้องการ หากเป็นเกษตรกรมือใหม่ให้นับช่วงอายุเขาจะบังคับคือพอ 30-35 จะสังเกตุได้ว่าจิ้งหรีดและแมงสะดิ้งเริ่มกินอาหารเก่ง อายุ 35 วันตัวเมียเริ่มออกเข็มที่เอาไว้วางไข่ แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่ามันจะจับได้หรือยัง คือพออายุเข้า 37-38 วัน ตัวผู้จะเริ่มร้องเพื่อผสมพันธุ์ ถ้าเราจดเอาไว้ดูว่าวันที่ 43-47 วัน ตัวเมียท้องจะเต็มช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่พร้อมเก็บผลผลิตได้แล้ว

“อย่างที่บอกนะครับว่า ธุรกิจการเลี้ยงแมลงง่ายสำหรับมือใหม่ แต่บางทีเราไม่รู้ว่าอันนี้พร้อมหรือยัง ต้องจดจำเวลาบังคับ เพราะถ้าเกิดว่าเราปล่อยยาวไปเรื่อยๆ จนอายุเกิน 60 วัน เราจะไม่ได้ขายเพราะจะร่วงตาย ฉะนั้นเราต้องใช้วิธีการสังเกตก็สามารถทำได้ คือสัตว์บางชนิดเราต้องสังเกตพฤติกรรมสังเกตการกิน การวางไข่ การออกลูก แต่สำหรับแมลงเวลาเป็นตัวกำหนด ถ้าถึงเวลาแล้วไม่ขายเขาจะร่วงตายอันนี้คือข้อกำหนดของธรรมชาติแมลงอยู่แล้วครับ” ภูดิส กล่าว

เขา บอกถึงสิ่งที่ต้องระมัดระวังในการเก็บผลผลิต อย่างกลุ่มของเขาจะมีระเบียบจะมีข้อบังคับไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้อาหาร ก่อนที่จะจับอาหารพวกผักใบเขียวระหว่างเลี้ยงจะไม่ให้จิ้งหรีดกิน  เพราะไม่มั่นใจว่าใบหม่อน ใบมันสำปะหรังเอามาจากไหนมีสารพิษต้องค้างหรือไม่ ทางกลุ่มจึงจะไม่อนุญาตให้สมาชิกใช้ผักใบเขียว แต่ฟักทองให้ได้

หลังจากนั้นจะมีการงดอาหารก่อนจับ 1 วัน ลักษณะของการจับมีการเตรียมเอาแผงไข่ออกบางส่วนให้เหลือน้อยที่สุด ส่วนเวลาที่จะจับดีที่สุดประมาณตี 2-3 จะเริ่มมาจับ เวลาจับจะใช้กะละมังที่ทำขึ้นมาเฉพาะสำหรับรองเอาเศษวัสดุ รองเอามูลจิ้งหรีดที่ติดตัวออกให้สะอาดที่สุด แล้วก็ใส่ถุงเอาไปใส่กะละมังรวมชั่งอีกทีนึง

“ขั้นตอนในการจับไม่ยุ่งยากแต่ใช้เวลาครับ เน้นเลยในส่วนของกลุ่มจิ้งหรีดหรือแมงสะดิ้งที่อยู่บนพื้นบ่อเราจะไม่จับ เราจะจับที่อยู่ในแผงไข่กับอยู่ที่ผนัง นั้นคือจิ้งหรีดที่มีชีวิตอยู่ จิ้งหรีดที่มีความแข็งแรง ในขณะที่อยู่บนพื้นเราไม่มั่นใจว่าตายไหม ตายมานานหรือยัง จะมีผลต่อคุณภาพของแมลงที่เราส่งขายด้วยนี่คือข้อกำหนดของกลุ่มครับ” เขา อธิบาย

เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จขั้นตอนสำคัญคือ การส่งไปยังตลาดที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะมันจะมีหลายตลาด ตลาดหนึ่งก็คือตลาดตัวสดชั่งกิโลแล้วเอาขึ้นรถเอาน้ำแข็งบดโรยพอครบถ้วนก็วิ่งส่งตลาดเลย อีกส่วนนึงคือขายตัวฟรีซแช่แข็งจับเสร็จชั่งกิโลชั่งน้ำหนัก จังหวะชั่งกิโลจะมีการตรวจสอบตลอด

จากนั้นเอาไปสถานที่โรงต้ม แล้วบรรจุใส่ถุง 1 กิโลหรือว่าครึ่งกิโล แล้วก็ฟรีซแช่แข็งรอจำหน่าย จะมีคนละตลาดกันขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นติดต่อตลาดเอาไว้แบบไหน ซึ่งตลาดตัวสดและเวลาฟรีซแช่แข็ง สามารถจำหน่ายให้ได้ทั้งสองตลาดหรือทุกๆคู่ค้าสม่ำเสมอเหมือนกัน เพราะเราขายให้กับคู่ค้าทุกคนอยู่แล้ว

      ทั้งหมดนี้คือเทคนิคในการการเก็บผลผลิต จิ้งหรีด-สะดิ้ง ให้ได้คุณภาพ ปลอดภัยตามที่ตลาดต้องการตามแบบฉบับของ  “ภูดิศ หาญสวัสดิ์” เกษตรกรคนเก่งในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แห่งโนนศิลา จ.ขอนแก่น!!