ขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อสู่ความสำเร็จ

  •  
  •  
  •  
  •  

       “การที่จะเลี้ยงจิ้งหรีดหรือแมงสะดิ้ง ประการแรกต้องหาตลาดก่อน ประการต่อมาให้คำนวณทุนก่อนอย่าเพิ่งตัดสินใจเลี้ยงทันที ไม่ใช่ว่าเห็นข้อมูลรายได้ดี กิโลกรัมละ 70-100 บาท และมีที่ขายแน่นอน แต่ต้องดูทุนก่อนพร้อมหรือไม่”

หลังจากที่ได้คัดเลือกสายพันธุ์แมลงเศรษฐกิจ ตามที่ตลาดต้องการแล้วคือ จิ้งหรีดหรือแมงสะดิ้ง ขั้นตอนต่อไปเกษตรกรคนเก่งของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม “ภูดิศ หาญสวัสดิ์” ที่ประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงจิ้งหรีดหรือแมงสะดิ้งจากอำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น ได้แนะขั้นตอนของการเลี้ยงจิ้งหรีดหรือแมงสะดิ้งให้ได้คุณภาพ ซึ่งภูดิศ บอกว่า แมลงเศรษฐกิจ 2 สายพันธุ์นี้กระบวนการเลี้ยง หรือวิธีการเลี้ยงก็จะเหมือนๆ

ขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้คุณภาพ

เริ่มต้นจากขั้นตอนแรกคือวิธีการเตรียมบ่อ บ่อต้องสะอาด ก่อนที่จะเตรียมเลี้ยงนั้น ต้องใช้วิธีการเผาไฟ เอาไฟมาเผาฆ่าเชื้อ เพราะอาจจะมีเชื้อโรค หรืออาจจะมีไข่แมลงชนิดอื่นที่เกาะอยู่ จึงต้องเอาไฟมาเผา ในส่วนของแผงไข่จะใช้วิธีการอบฆ่าเชื้อ ทั้งนี้เราก็ได้งบประมาณในการสนับสนุนเป็นเครื่องอบแผงไข่ ที่สามารถฆ่าเชื้อให้สะอาดได้ ซึ่งต้องมีข้อมูลในเชิงวิจัยของทางสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เอามาอ้างอิงในเรื่องของอุณหภูมิระยะเวลาในการอบแผงไข่ทำให้แผงไข่สะอาด แผงไข่สะอาด บ่อเลี้ยงสะอาด นั่นก็หมายความว่าตัวผลผลิตที่จะไปสู่ผู้บริโภคมันก็จะสะอาดตามไปด้วย อันนั้นคือจุดมุ่งหมายที่เราจะทำเป็นมาตรฐาน GAP

ขั้นตอนต่อมาหลังจากทำความสะอาดแล้วขั้นตอนต่อไปก็คือจะต้องเอาไข่ พันธุ๋ไข่ที่เราอาจจะลองมาจากรอบก่อนหรือว่าจะซื้อใหม่มาจากฟาร์มอื่นก็เอามาใส่ ซึ่งทางเกษตรกรเขาจะเรียกปริมาณของพันธุ์ไข่เป็นขัน บ่อนึงจะใช้อยู่ 2-3 ขันประมาณนั้น ขันไข่นึงความก้าง 15-20 ซม. วางเสร็จถ้าเป็นจิ้งหรีดก็ประมาณ 7 วันก็จะฟักตัวออกมาถ้าเป็นสะดิ้งก็ 7-10 วันจะช้ากว่าจิ้งหรีดเล็กน้อยกว่าจะฟักตัวออกมา

จากนั้นสู่ขั้นตอนการให้อาหาร หลังจากฟักตัวออกมาก็เป็นตัวมดเล็กๆยังไม่ต้องให้อาหารมากนัก เน้นอาหารผงอาหารสำเร็จรูป แต่สะดิ้งและจิ้งหรีดจะต้องการน้ำมากกว่าก็จะต้องมีวิธีการในการให้น้ำเพื่อให้ทั่วถึงถ้าขาดน้ำจะตาย ทัน แต่กระนั้นเพื่อไม่ให้จมน้ำตาย หรือไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคต่อไปในฤดูการเลี้ยงก็จะมีวิธีการอยู่

พอเวลาผ่านไปราว 45 วัน คือแบ่งเป็น 3 ช่วง 15 วันแรก 15 วันกลาง 15 ท้าย การให้อาหารสูตรอาหารปริมาณโปรตีนแตกต่างกัน ช่วงแรกจะให้โปรตีน 21% ให้ปริมาณน้อยเพราะว่ายังเป็นตัวมดอยู่เลย ส่วนช่วงกลางก็ให้ปริมาณที่มากขึ้นพร้อมทั้งถ้ามีวิธีการในการลดต้นทุน อย่างเช่นมีรำอ่อนมาผสมอันนี้ก็ให้ได้ ส่วนช่วงท้าย 15 วันหลังก็อาจจะใช้โปรตีนจากอาหารสำเร็จรูปแค่ 14%  รวมถึงให้เป็นรำอ่อนเพิ่มมากขึ้น

สุดท้ายสู่ขั้นตอนที่เป็นช่วงกระบวนการในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ใช้เวลาช่วงนั้นมีการสั่นแผงไข่ เคาะแผง เก็บเกี่ยว ส่งขายก็ใช้เวลาอยู่ประมาณ 3 – 4 วัน กระบวนการทั้งหมดหลังจากนั้นเราก็จะมีการทำแบบนี้วนรอบๆไป เท่ากับว่าจะใช้เวลาอยู่ประมาณสัก 60 วันไม่เกินต่อ 1 รุ่นก็จะได้ผลิตรุ่นต่อไป ปีนึงก็ประมาณ 6 รอบ

แนะมือใหม่ต้องหาตลาด-คำนวนต้นทุน

ปัญหาตรงที่ว่า จิ้งหรีดเลี้ยงยังไงให้มีคุณภาพ สิ่งที่ต้องระมัดระวัง พี่น้องเกษตรกรที่อยากจะเลี้ยงจิ้งหรีดมีข้อแนะนำไหม  ภูดิส แนะนำว่า สำหรับมือใหม่หรือว่าคนที่สนใจจะเลี้ยงจิ้งหรีด อย่างแรกเลยหาตลาดก่อน เรื่องของการเลี้ยงยังไม่น่ากังวลเท่าไหร่ ถ้าในภูมิภาคหรือในตำบล อำเภอ ที่ยังไม่มีผู้เลี้ยง แนะนำเลยให้เลี้ยง 2 บ่อหรือ 4 บ่อ เลี้ยงขายเฉพาะในชุมชนก็ไม่พอ

“ที่ผ่านมามีอยู่หลายชุนชนมีอยู่หลายบ้านมาศึกษามาดูงาน เสร็จพอบอกแถวบ้านไม่มีก็ได้ข้อมูลไปแล้วไปเลี้ยง ปรากฏว่าขายในหมู่บ้านชุมชนไม่พอจริง ๆ อย่างที่สองถ้าได้ตลาดแล้วให้ศึกษาในเรื่องของต้นทุนก่อน เพราะว่าบางทีสื่อที่ดี คำบอกเล่าก็ดี หรือได้จากเจ้าหน้าที่นักวิชาการก็ดี ว่ารายได้มันดีแต่ต้องดูเรื่องของทุนก่อนว่าเรามีเท่าไร” ภูดิส กล่าว

เขา บอกด้วยว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดลงทุนครั้งแรกค่อนข้างเยอะที่ต้องลงทุน 1.อาคารหรือโรงเรือนบางทีคิดแบบง่ายๆ ใช้ใต้ถุนแต่ปัญหาตรงที่ว่าไม่ผ่านมาตรฐาน ฉะนั้นควรเลือกเป็นข้างบ้านสถานที่มิดชิดที่กันแดดกันฝนได้,  2.บ่อเลี้ยง อย่างบ่อเลี้ยงสำเร็จรูปที่เป็นแผ่นสมาร์ทบอร์ดโครงเหล็กเนี่ย ปัจจุบันทั้งชุดอยู่ราคา 4,000 บาท ก็ถือว่าใช้ทุนค่อนข้างสูงเหมือนกัน

ฉะนั้นพอจะสรุปง่ายๆได้ว่า การที่จะเลี้ยงจิ้งหรีดหรือแมงสะดิ้ง ประการแรกต้องหาตลาดก่อน ประการต่อมาให้คำนวณทุนก่อนอย่าเพิ่งตัดสินใจเลี้ยงทันที ไม่ใช่ว่าเห็นข้อมูลรายได้ดี กิโลกรัมละ 70-100 บาท และมีที่ขายแน่นอน แต่ต้องดูทุนก่อนพร้อมหรือไม่ เสร็จหลังจากนั้นถ้าเกิดว่ามั่นใจว่าจะะเลี้ยง เพราะมีมีที่ขาย มีทุนพอที่สามารถเลี้ยงได้จึงลงมือได้เลย

ข้อควรระวังโรคของแมลง

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งอย่ามองข้าม คือข้อควรระวังโรคของแมลง ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอิริโดไวรัสหรือโรคท้องน้ำ เพราะย่อมเกิดขึ้นได้ทุกระยะ แล้วก็โรคอัมพาตก็เกิดขึ้นได้ทุกระยะอยู่เช่นกันขึ้นอยู่กับว่ามีเชื้ออยู่ในตัวหรือไม่ แต่ทั้งนี้สามารถที่จะป้องกันได้ เบื้องต้นในเรื่องของความสะอาด เลี้ยงสัตว์อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจทุกอย่างชอบความสะอาด ขอให้สะอาดไว้ก่อนก็อุ่นใจแล้วว่าเลี้ยงโต   ส่วนอื่นๆจะเป็นเรื่องหนู เรื่องของนกเป็นปัญหาพื้นฐานง่ายๆของเกษตรกรที่สามารถจะป้องกันได้ แค่เอามุ้งหรือสแลนมาควบคุมก็ได้แล้ว สิ่งเหล่านี้เกษตรกรจะเข้าใจเองและเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งมากยาก

ขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งหรีด แม้จะไม่ยุ่งยาก แต่การเลี้ยงให้ได้คุณภาพและมีมาตรฐานนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตรงนี้ เขามีข้อแนะนำสำรับเกษตรกรมือใหม่ที่จะเลี้ยงจิ้งหรีดหรือสะดิ้งดังนี้

1.ต้องเอาตัวเองเป็นหลักก่อนว่าจะเลี้ยงเพื่ออะไร พออยู่พอกินมีเหลือแจกจ่าย มีมากก็เอาไว้ขายพอเป็นรายได้หมุนเวียน, 2.ถ้าคิดจะทำเพื่อเป็นธุรกิจ ต้องจับหลักได้ว่าตัวเองต้องการอะไรก็ให้มุ่งไปทางนั้น อย่าทำแบบเลี้ยงเยอะๆแต่พอขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แจกจ่ายพออยู่พอกินมันจะควบคุมตัวเองไม่ได้

สนใจทำเป็นธุรกิจปรึกษาได้

“การที่จะทำเป็นธุรกิจ เราต้องจริงจัง อย่าว่าแต่จิ้งหรีดเลยครับ ทุกๆประเภทที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจถ้าคิดจะทำเป็นธุรกิจต้องจริงจัง ต้องหาข้อมูลไปศึกษาหาตลาด หาผู้รู้ หานักวิชาการ หาเจ้าหน้าที่เราต้องมีพี่เลี้ยงทั้งหมดนะครับ ไม่ใช่ยากทำแบบที่มองว่า เขาทำได้เราก็ทำได้” เขา ให้ข้อคิดและบอกว่า ธุรกิจของแมลงมีอัตราการเจริญเติบโตสูงในทุกๆปี ตามที่ได้ข้อมูลและอบรมมาตลอด

“ชวนครับ แนะนำได้ถ้าสนใจก็มาคุยกันให้คำแนะนำได้ และก็อย่างที่บอกไปในเบื้องต้นนั่นแหละครับ เพราะตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เพาะเห็ด ก็ทำน้อยลง บางกิจกรรมก็หยุดแล้ว และเหล่านี้หันปรับมาเป็นแมลงเป็นส่วนใหญ่ครับ ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายซะทีเดียวต้องบอกอย่างนี้ครับ” ภูดิส ย้ำในตอนท้าย