สื่อมวลชนอินเดีย ชาวอินเดียน ชื่มชมและขอบคุณทีมสัตวแพทย์ไทย ร่วมเดินทางไปตรวจรักษาช้างอินเดียเพศเมีย “ภะวาตี” ที่มีการตาเจ็บทั้งสองข้าง ที่วัดชื่อดัง ” Meenakshi Sundareshwarar Temple” ของเมืองมาดูไร โดยไม่ต้องผ่าตัด
รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า จากการที่นายนิธิรุจน์ โผนประเสริฐ กงสุลใหญ่ของไทย ประจำเมืองเจนไน ประเทศอินเดีย ได้จัดงานกระชับความสัมพันธ์ในโอกาสครบรอบ 75 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอินเดีย ที่เมืองเจนไนเมื่อก่อนหน้านี้ ได้เรียนเชิญท่านรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและทรัพยากรมนุษย์แห่งรัฐ ทมิฬนาฑู Dr. Palanivel Thiaga Rajan มากล่าวปาฐกถาด้วย
ในระหว่างปาถกถาตอนหนึ่ง รมว.คลังฯอินเดียกล่าวถึงช้างเพศเมียชื่อภะวาตี อายุ 26 ปี ซึ่งเป็นช้างของวัด Meenakshi Sundareshwarar Temple วัดที่มีความสำคัญมากของเมืองมาดูไร ที่มีอาการตาเจ็บเรื้อรังทั้งสองข้างและรักษามาหลายปีโดยทีมสัตวแพทย์ชาวอินเดียและอาการยังไม่ดีขึ้น จึงอยากให้ทางกงสุลไทยนั้นติดต่อหมอช้างไทยที่มีความชำนาญไปช่วยวินิจฉัยและรักษาและยังทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขอความช่วยเหลือมายังสถานกงสุลไทยอีกด้วย
จากนั้นทางกงสุลไทยจึงติดต่อมายัง รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ เพื่อขอให้จัดทีมหมอช้างไทยที่จะไปช่วยวางยาสลบช้างเพื่อให้สัตวแพทย์อินเดียทำการผ่าตัดรักษาด้วยทีมสัตวแพทย์ของอินเดีย ทาง รศ.น.สพ.ดร.นิกร ได้เชิญหมอช้างผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆของไทยจาก คณะสัตวแพทยศาสตร์ มก. สถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และสัตวแพทย์จาก โรงพยาบาลสัตว์เอกชน รวมทั้งสิ้นเป็นทีมไทยทั้งหมด 6 คน เข้าประชุมกับทีมสัตวแพทย์อินเดีย นำโดย Prof.Dr. Ramani Chandresekar จาก Department of Clinics, Madras Veterinary College, Chennai, Tamil Nadu และสัตวแพทย์ชาวอินเดียอีก 5 คน ประชุมร่วมกันทางออนไลน์
ผลจากการประชุมปรากฏว่าทางทีมสัตวแพทย์อินเดียเกิดความไม่มั่นใจว่าจะสามารถผ่าตัดรักษาได้ ต้องการให้ทีมไทยเดินทางไปร่วมวินิจฉัยอาการบาดเจ็บของตาช้างด้วยกันมากกว่า ทางทีมไทยจึงขอจัดประชุมอีกครั้งผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แล้วเชิญ รศ.สพ.ญ.ดร.อารีย์ ทยานานุภัทร์ ผู้เชี่ยวชาญโรคตาในสัตว์ของประเทศไทยเข้าร่วมประชุมอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565
ผลการประชุมพบว่ามีความเห็นตรงกันว่าอาจจะไม่ต้องทำการผ่าตัด แต่ทั้งนี้ควรมีการตรวจตาช้างภะวาตีร่วมกันในสถานที่จริงๆและตรวจตาช้างจริงๆ พร้อมกัน จากนั้นทางฝั่งกงสุลไทยจึงประสานท่านรัฐมนตรีและทางวัด Meenakshi Sundareshwarar แจ้งถึงการขอการสนับสนุนให้ทีมสัตวแพทย์ไทยจาก 4 หน่วยงานรวมทั้งสิ้น 7 คนนำโดย รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ เดินทางไปเมืองมาดูไร เพื่อร่วมตรวจตาช้างภะวาตี ซึ่งทางท่านรัฐมนตรีและทางวัดก็ยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่
กระทั่ง วันที่ 26-27 มิถุนายน 2565 ทีมสัตวแพทย์ไทยได้เดินทางไปปฏิบัติงานร่วมกับที่สัตวแพทย์อินเดีย ผลการปฏิบัติงานร่วมกันในการวินิจฉัยอาการตาเจ็บของช้างภะวาตีนั้นพบว่า ภะวาตีมีอาการภาวะตาเคลื่อน (lens luxation) ทั้งตาซ้ายและตาขวา โดยที่ตาซ้ายนั้นมีการมองเห็นประมาณ 30% ส่วนตาขวานั้นมีการมองเห็นประมาณ 80% และไม่ควรทำการผ่าตัดรักษาเนื่องจากโครงสร้างภายในลูกตาที่ยึดโยงเลนส์ไว้ให้อยู่กับที่นั้นเสียหายไปหมด การผ่าตัดตาเพื่อเปลี่ยนเฉพาะเลนส์ออกนั้นจึงทำไม่ได้ จึงการรักษาแบบประคับประคองตามอาการด้วยการลดการอักเสบ การให้ยาฆ่าเชื้อเมื่อจำเป็นและการให้ยาบำรุงดวงตาจะช่วยให้ช้างมองเห็นและช่วยตัวเองได้
หลังจากปฏิบัติงานเสร็จทางทีมไทยได้เดินทางกลับประเทศไทย ต่อมาทางกงสุลไทยได้ส่งหนังสือขอบคุณกลับมายังหน่วยงานต่างๆที่เดินทางร่วมไปในการทำงานครั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ระบุว่า จากการผนึกกำลังทำงานร่วมกันของทีมสัตวแพทย์ไทยและอินเดียในครั้งนี้ ได้รับคำชื่นชมจากประชาชนชาวอินเดียน และ สื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามทำข่าวอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการทำงานด้านสัตวแพทย์ที่สำคัญของไทย อีกทั้งทีมสัตวแพทย์ไทยยังมีส่วนสำคัญในการเจริญความสัมพันธ์ระหว่างไทยและรัฐทมิฬนาฑู และกิจกรรมนี้ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอินเดียในปีนี้อีกด้วย
สำหรับทีมสัตวแพทย์ไทย ที่เดินทางไปช่วยรักษาช้างอินเดียในครั้งนี้ ประกอบด้วย รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์, ผศ.สพ.ญ.ดร.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, รศ.สพ.ญ.ดร.อารีย์ ทยานานุภัทร์ น.สพ.ดร.ทวีโภค อังควาณิช สพ.ญ.วรางคณา ลังการ์พินธุ์, น.สพ.เพ็ชรธิศักดิ์ สมบัติภูธร สถาบันคชบาลแห่งชาติ, และสพ.ญ.ดร.วัลยา ทิพย์กันทา องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย
ข่าวโดย….ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์