“โรงเรือนจำลองฟาร์มไก่พันธุ์ไข่” ของซีพีเอฟ แบ่งปันทักษะอาชีพให้น้องๆ รร.CONNEXT ED

  •  
  •  
  •  
  •  
ซีพีเอฟ พันธมิตรที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ สานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) นำ 5 โมเดล ” โครงการอัจฉริยะยุวเกษตร- ฟาร์มไก่พันธุ์ไข่อัจฉริยะ-ร้านกาแฟเด็กน้อย – Proactive teacher for active learning – โครงการ นัก Coding น้อย” ร่วมขับเคลื่อนโครงการในปี 2565 ตามความต้องการและบริบทของโรงเรียน
      โรงเรียนวัดหนองขุนปราบ บ้านหนองขุนปราบ ต.เมืองแฝก อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ โรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนนักเรียน 103 คน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล -ประถมศึกษาปีที่  6 ถือเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ซีพีเอฟ  ทำโครงการโรงเรือนจำลองฟาร์มไก่พันธุ์ไข่ เมื่อปี 2563
        ปัจจุบัน เลี้ยงไก่ไข่รุ่นแรก จำนวน  100 ตัว  ปูพื้นฐานการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ  ปลูกฝังให้ตระหนักในคุณค่าของอาชีพ  สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่อย่างถูกต้อง เพื่อส่งเสริมผู้เรียนมีความรู้ในขั้นตอนและกระบวนการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่  สามารถนำไปประกอบอาชีพในอนาคต  ซึ่งคุณครูมอบหมายให้น้องๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่  4 ดูแลโครงการ ฯ โดยมีพี่ๆ ชั้น ป.5 และ ป.6 เป็นพี่เลี้่ยง
        นายสนั่น  ประสงใด ครูชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหนองขุนปราบ กล่าวว่า โรงเรียนฯ และผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner : SP)  ของซีพีเอฟ ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน โดยตระหนักถึงภาวะทุพโภชนาการ และการส่งเสริมโภชนาการที่ดีของนักเรียน
      นอกจากนี้  ยังได้บูรณาการโครงการดังกล่าวเข้ากับการเรียนการสอนวิชาหลัก เช่น คณิตศาสตร์ การงานพื้นฐานอาชีพ  เพื่อสร้างความสนใจของนักเรียน ซึ่งที่ผ่านมา พบว่ากิจกรรมการเรียนการสอนนอกห้องเรียนจากการทำโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ช่วยให้นักเรียนมีความใส่ใจการเรียนมากขึ้น    และบ่มเพาะความเป็นจิตสาธารณะให้กับเด็กนักเรียน เนื่องจากต้องจัดเวรรับผิดชอบ ให้อาหารไก่  ดูแลน้ำ ทำความสะอาดโรงเรือน และเก็บไข่ไก่ทุกวัน  รวมทั้งในวันเสาร์และอาทิตย์ ที่น้องๆอาสามาดูแลไก่ที่โรงเรียน แม้จะเป็นวันหยุดก็ตาม
        “โรงเรียนทำโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่  โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้จากประสบการณ์และการลงมือปฏิบัติจริง  ด้วยการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบตามความถนัดและความสมัครใจ โดยเด็กๆได้เรียนรู้การวางแผนการเลี้ยง ตั้งแต่การให้อาหาร ดูแลเรื่องน้ำ ทำความสะอาดโรงเรือน การวางแผนบริหารจัดการด้านการตลาด ทั้งการนำผลผลิตไข่ไก่ส่งเข้าโครงการอาหารกลางวัน จำหน่ายให้กับชุมชนในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด  โดยตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไข่ไก่ให้ชุมชนแล้วเกือบ 50,000 บาท ซึ่งจะนำรายได้ไปต่อยอดการเลี้ยงไก่ในรุ่นที่สองต่อไป  รวมไปถึงต่อยอดการเรียนรู้ด้วยการนำผลผลิตไข่ไก่ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ขนมดอกจอก โดยเชิญคนในชุมชนมาสอนวิธีการทำขนมให้   “รักษาการ ผอ.โรงเรียน กล่าว
        ด้าน ด.ญ.ณัฏฐณิชา ไกรจันทร์ น้องอุ้ม ด.ช. ทศพร ชนิดกุล น้องเก่ง  นักเรียนชั้น ป.5  และ ด.ช. เจษฎา ชินนอก น้องคิว  ด.ช.ยิ่งคุณ บุญศักโสธร น้องอชิ นักเรียนชั้นป.6  พาชมโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ของโรงเรียน  ซึ่ง น้องคิว บอกว่า  พวกเราได้รับความรู้มากมายเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ขอขอบคุณบริษัทซีพีเอฟที่มอบโอกาสดีๆให้พวกเราครับ ส่วนน้องเก่ง ขอบคุณซีพีเอฟและโครงการคอนเน็กซ์ อีดี ที่สนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ทำให้นักเรียนมีผลผลิตไข่ไก่มาเป็นอาหารกลางวัน เมนูต่างๆ   เช่น พะโล้ บัวลอยไข่หวาน
        ส่วนน้องอุ้ม เล่าขณะที่พาชมโรงเรือนฯว่า โครงการนี้ทำให้พวกเรามีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ที่ถูกต้อง ตั้งแต่การให้อาหาร การเลี้ยง  ทำความสะอาดโรงเรือน  การบันทึกบัญชีรายรับรายจ่าย  ฝีกการคิดคำนวณจากการทำบัญชี  มีความรับผิดชอบ รู้จักการทำงานร่วมกัน และปลูกฝังการมีจิตสาธารณะ
       ขณะที่นายศักดิธัช นิลพฤกษ์ หรือ นิว  ทำหน้าที่ SP โครงการ CONNEXT ED ของซีพีเอฟ  มาตั้งแต่ปี 2561   กล่าวว่า โครงการ “โรงเรือนจำลองฟาร์มไก่พันธฺุ์ไข่”  เป็นโมเดลที่โรงเรียนอื่น ๆ ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้  เนื่องจากเป็นโครงการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของนักเรียนจากประสบการณ์จริง  สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบโรงเรียน ที่สำคัญ คือ ความยั่งยืนของโครงการ
     โครงการ “โรงเรือนจำลองฟาร์มไก่พันธฺุ์ไข่” ยังเป็นโมเดลที่ซีพีเอฟ ใช้เป็น Best Practices ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และถอดบทเรียน เพื่อขยายผลการนำไปใช้กับโรงเรียนภายใต้สังกัด สพฐ.  โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ทำงานร่วมกับมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี  ซึ่งในระยะต่อไปมีแนวทางส่งเสริมให้โรงเรียนที่ทำโครงการ”โรงเรือนจำลองฟาร์มไก่พันธฺุ์ไข่” นำระบบอัตโนมัติมาใช้  อาทิ ระบบให้อาหารไก่    สปริงเกอร์บนหลังคาพ่นละอองน้ำ (Springer) เพื่อช่วยลดความร้อนในโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่  เป็นต้น
ปัจจุบัน ซีพีเอฟ รับผิดชอบดูแลโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED  รวม  301 โรงเรียน ครอบคลุมพื้นที่  4 จังหวัด คือ นครราชสีมา  บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสระบุรี  โดยได้ร่วมสนับสนุนโครงการต่างๆ ไปแล้วรวม 235 โครงการ  มุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน   สอดรับตามวิสัยทัศน์ของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ยกระดับการจัดการการศึกษาไทย