จัดกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 18” เพื่ออนุรักษ์ควายไทย ไม่ให้สูญพันธุ์

  •  
  •  
  •  
  •  

        จากข้อมูลกรมปศุสัตว์ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์กระบือทั่วประเทศในปี 2564 มีจำนวน 1.5 ล้านตัว  โดยมีปริมาณลดลงจากปี 2540 ที่มีจำนวนกระบือประมาณ 2.2 ล้านตัวทั่วประเทศ แต่เนื่องจากวิถีชีวิตของเกษตรกรได้เปลี่ยนไปจากการใช้แรงงานกระบือมาใช้อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรไถนา อย่างไรก็ตามได้มีการพัฒนาผลิตกระบือคุณภาพและการจัดการดูแลพัฒนาพันธุ์กระบืออย่างจริงจัง เป็นการส่งเสริมการผลิตกระบือสู่ท้องตลาดเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรสร้างรายได้จากการขายกระบือเพื่อการบริโภคทดแทนการใช้งาน

        บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)  และองค์กรภาคี ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิธรรมดี จัดโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 18” นำคณะครูอาจารย์ที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วประเทศลงพื้นที่ร่วมประสบการณ์การทำการเกษตร พร้อมร่วมอนุรักษ์กระบือไทย ทำกิจกรรมการฝึกกระบือเพื่อทำการเกษตร การทำบ้านดิน การหว่านข้าว  ทำพิธีสู่ขวัญควายเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ และยังได้มีส่วนร่วมในการสร้างบุญการไถ่ชีวิตกระบือ 28 ตัว รวมลูกในท้อง 6 ชีวิต ทั้งหมด 34 ชีวิต

        โดยมูลนิธิธรรมดี มูลนิธิพุทธภูมิธรรมและเครือข่ายปุญภาคี ผู้มีหัวใจแห่งพระโพธิสัตว์ ในจำนวนนี้มีกระบือเผือก 1 ตัว เพศผู้ อายุ 4 ปี ชื่อ “แก้ว” ซึ่งมูลนิธิฯ จะทำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯถวายเป็นกระบือทรงเลี้ยงคู่กับคุณเผือก ณ โครงการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สระแก้ว หนึ่งในโครงการที่ได้ถูกคัดเลือกอยู่ในหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา โดยศูนย์คุณธรรมร่วมกับองค์กรภาคี จัดทำสรุป 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา สำหรับกระบือที่เหลือรับมอบโดย พ.อ. สุชญาณ ศรีตระกูล รอง ผบ.มทบ. 19 เพื่อนำไปปรับปรุงพันธุ์ขยายพันธุ์ และอนุรักษ์ไว้ต่อไป

       โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จังหวัดสระแก้ว เกิดขึ้นโดยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกกระบือให้สามารถไถนาและทำงานด้านเกษตรกรรมและสอนผู้ที่ต้องการใช้กระบือทำการเกษตรให้สามารถทำงานร่วมกับกระบือได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลกระบือให้มีสุขภาพแข็งแรง และยังเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบพื้นบ้านที่เรียบง่ายและการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ “กาสร” แปลว่าควายหรือกระบือ ส่วน “กสิวิทย์” คือความรู้สำหรับการกสิกรรม เกษตรกรและผู้ที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ในโรงเรียน สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อม รักษาธรรมชาติ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลและพึ่งพิงกันได้ตลอดไป

     นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เกษตรกรรมเป็นสิ่งสำคัญต่อทั้งวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งทุกวันนี้วิถีชีวิตของเกษตรกรปรับมาเป็นเกษตรดิจิทัลที่ใช้นวัตกรรมเครื่องมือการจัดการที่ทันสมัย แทนการใช้แรงงานกระบือ  แต่เราต้องไม่ลืมพื้นฐานดั้งเดิมการทำนาของชาวนาไทย และคู่บุญชาวนา คือ“ควาย” หรือกระบือ  สัตว์เลี้ยงที่ทำประโยชน์สร้างรายได้ให้กับชาวนา การได้มาศึกษาเรียนรู้การฝึกกระบือและการไถนาที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์

       ดังนั้นจึงเป็นการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พิธีสู่ขวัญควาย” เพื่อแสดงการขอบคุณและขอขมา เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณและไม่มีอีกแล้วในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงความสำคัญของกิจกรรมที่แสดงออกถึง “ความกตัญญูรู้คุณและความเมตตากรุณา”ที่เป็นคุณธรรมสำคัญในการใช้ชีวิตทุกวันนี้  ซึ่งทิพยประกันภัยห่วงใยทุกชีวิตในสังคมกับโครงการ ทิพยทำความดีไม่มีสิ้นสุด พร้อมช่วยเหลืออนุรักษ์กระบือไทย ให้ยังคงอยู่คู่บ้านเมืองของเรา”

        ด้าน รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า บทบาทของศูนย์คุณธรรม คือการส่งเสริมและขับเคลื่อนเครือข่ายทางสังคมด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่สังคมคุณธรรม และพร้อมสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนให้ได้เข้าใจถึงคุณธรรม 5 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู การที่ครูอาจารย์ได้มาร่วมทำกิจกรรมการทำการเกษตรที่โครงการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จ.สระแก้ว นับว่าเป็นประสบการณ์การเรียนรู้คุณธรรมได้ครบทุกมิติ พร้อมคาดหวังให้นำไปใช้ปฏิบัติจนเกิดเป็น“วิถีชีวิต”ต่อไป

      ส่วน ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง “คนกับควาย” ที่มีมาช้านาน เป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจและสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาจิตใจของคน การสอนกระบือให้เรียนรู้เพื่อให้สามารถช่วยชาวนาทำงานได้นั้น ไม่ใช่เฉพาะกระบือเท่านั้นที่ถูกฝึก แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการสอนกระบือให้เป็นงาน คือ “คน” ที่จะได้ทั้งความผูกพัน ความเป็นเพื่อน ความกตัญญู ความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ คิอ “ควายสอนคน” เป็นความสัมพันธ์ด้านจิตวิญญาณที่สร้างให้เกิดความรักสามัคคีในครอบครัวไปถึงชุมชนและสังคม

       ทั้งนี้ได้ส่งผลต่อเนื่องไปถึงชาติบ้านเมือง เราจึงควรดำรงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีพ  ไปจนถึงรุ่นลูกหลานให้มีความเข้าใจและภาคภูมิใจในความเป็นไทย พร้อมกับน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงวางรากฐานของความพอเพียงช่วยให้เรารอดพ้นจากวิกฤติต่างๆ มาได้จนถึงทุกวันนี้”

        สำหรับกิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 19 จะจัดขึ้นอีกในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 23 – 24 กรกฎาคม 2565  ณ โครงการสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร จ.เพชรบุรี หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชา สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com แฟนเพจ: ตามรอยพระราชา-The King’s Journey Facebook: มูลนิธิธรรมดี และ LINE Official: @dfoundation