ข่าวดีจากกรมปศุสัตว์ แจ้งว่า ควายงาม “ทองสุข” เจ้าของรางวัลชนะเลิศ “แกรนด์แชมป์ถ้วยพระราชทาน” ในการประกวดกระบือแห่งชาติ ล่าสุดประจำปี ๒๕๖๕ ที่ติดเชื้อ “โรคเลปโตสไปโรซิส” ที่ติดต่อสู่คนได้ ล่าาสุดรักษาได้ 3 วันตรวจซ้ำอีกครั้งไม่พบเชื้อแล้ว ผู้สนใจน้ำเชื้ออสุจิต้องรออีกนิด ตอนนี้ยังไม่เข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งให้เกษตรกร
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กระบือเพศผู้ “ทองสุข” ซึ่งได้รับรางวัลแกรนด์แชมป์ถ้วยพระราชทาน ในการประกวดกระบือแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ ณ สวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๕ มีผลการตรวจโรคทั้ง ๒ ครั้ง จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ พบโรคเลปโตสไปโรซิส ซึ่งเป็นโรคของสัตว์ที่สามารถติดต่อมาสู่คน (Zoonotic Disease) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการในคนจะหลากหลายขึ้นกับชนิดของเชื้อ (serovars) และปริมาณเชื้อที่ได้รับ คนที่ติดเชื้อในพื้นที่ที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการอย่างอ่อน
วิธีการติดต่อ เชื้อถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ และปนเปื้อนอยู่ตามน้ำ ดินที่เปียกชื้น หรือพืช ผัก เชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน และเยื่อบุของปาก ตา จมูก นอกจากนี้ยังสามารถไชเข้าทางผิวหนังปกติที่อ่อนนุ่มเนื่องจากแช่น้ำอยู่นาน คนมักติดเชื้อโดยอ้อมขณะย่ำดินโคลน แช่น้ำท่วมหรือว่ายน้ำ หรืออาจติดโรคโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อในปัสสาวะสัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ
สำหรับอาการในสัตว์ สัตว์ที่ป่วยจะมีไข้ สัตว์ตั้งท้องอาจแท้งได้ มีอาการดีซ่านรวมทั้งปัสสาวะมีสีแดง ทั้งนี้ หากพบปศุสัตว์ที่ป่วย มีอาการต้องสงสัยโรคเลปโตสไปโรซิสให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์เพื่อดำเนินการตรวจสอบโรคต่อไป
กรณีกระบือทองสุข นั้น กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการรักษาโรคด้วยยาปฏิชีวนะแล้ว โดยผลการรักษาหลังจากให้ยาปฏิชีวนะไปแล้วสามวัน ไม่พบเชื้อเลปโตสไปรา แต่อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ได้ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยจะติดตามผลเลือด และปัสสาวะทุกเดือนต่อเนื่องจนกว่าจะไม่พบเชื้อเลปโตสไปโรซิส
ปัจจุบัน กระบือทองสุขได้เข้าสู่ศูนย์ผลิตน้ำเชื้อวิลัยฟาร์ม ซึ่งเป็นศูนย์ผลิตน้ำเชื้อมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ และอยู่ในระหว่างกักแยกจากสัตว์อื่นเพื่อรักษาโรคเลปโตสไปโรซิส นอกจากนี้ยังมีการตรวจโรคที่สามารถติดต่อผ่านทางน้ำเชื้อหรือ ติดต่อไปยังคนเป็นประจำทุกปี ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการผลิตน้ำเชื้อจากพ่อกระบือทองสุข
ทั้งนี้ ศูนย์ผลิตน้ำเชื้อที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์จะมีข้อกำหนดในการตรวจโรคติดต่อที่สามารถผ่านทางระบบสืบพันธุ์ โรคติดเชื้อ และ โรคทางพันธุกรรมต่างๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพของน้ำเชื้อที่ผลิตได้ รวมถึงกระบวนการผลิตน้ำเชื้อที่ได้มาตรฐาน และมีการควบคุมจากสัตวแพทย์ โดยต้องปฏิบัติตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการขอรับและออกใบรับรองมาตรฐานศูนย์ผลิตน้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์สัตว์ พ.ศ. 2560 และ ประกาศกรมปศุสัตว์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้มั่นใจได้ว่าพ่อพันธุ์ปศุสัตว์ และ น้ำเชื้อที่ผลิตจากศูนย์ผลิตน้ำเชื้อมาตรฐาน มีคุณภาพน้ำเชื้อที่ดี ปราศจากโรคติดต่อทางระบบสืบพันธุ์ และ พันธุกรรม ผสมติดง่าย และสามารถสืบประวัติย้อนกลับได้อีกด้วย