กรมปศุสัตว์เตือนภัยจากแมลง!!พาหะนำโรคระบาดสัตว์ช่วงหน้าร้อน-อากาศแปรปรวน

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมปศุสัตว์ เตือนภัยเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ให้ระวังโรคระบาดที่เกิดจากแมลงพาหะนำโรค ทั้งยุง ริ้น เหลือบ แมลงวันคอก ชี้ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน และมีสภาพอากาศที่แปรปรวน เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง และมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ อาจส่งผลทำให้สัตว์เกิดความเครียด อ่อนแอ และมีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน และมีสภาพอากาศที่แปรปรวน เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง และมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ อาจส่งผลทำให้สัตว์เกิดความเครียด อ่อนแอ และมีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย จึงขอตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ หรือเจ้าของสัตว์ทั้งโค กระบือ สุกร แพะ แกะ  และม้า เป็นต้นให้ระวังโรคระบาดที่เกิดจากแมลงพาหะนำโรค ทั้งยุง ริ้น เหลือบ แมลงวันคอกด้วย เนื่องจากสภาพอากาสในปัจจุบัน  อาจส่งผลทำให้สัตว์เกิดความเครียด อ่อนแอ และมีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย

                                                           น.สพ.สรวิศ ธานีโต 

อีกทั้งลักษณะภูมิอากาศดังกล่าว ยังมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแมลงพาหะนำโรค จึงมีโอกาสที่จะพบการระบาดของโรคที่มาจากแมลงพาหะเพิ่มขึ้น และเกิดการแพร่กระจายของโรคไปในวงกว้างได้ โดยโรคที่มักจะเกิด ได้แก่ โรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ โรคกาฬ โรคแอฟริกา และโรคโลหิตจาง ในม้า รวมถึงโรคพยาธิในเลือดต่างๆ เช่น โรคเซอร่า โรคแอนาพลาสมา โรคไข้เห็บ เป็นต้น ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หรือเจ้าของสัตว์อย่างมากได้

สำหรับวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้เลี้ยงสัตว์ กรมปศุสัตว์จึงขอความร่วมมือเกษตรกรหรือเจ้าของสัตว์ในการดำเนินการป้องกัน ควบคุม กำจัดหรือลดปริมาณแมลงพาหะนำโรค โดยการใช้สารกำจัดแมลงพาหะด้วยวิธีการฉีดพ่นบริเวณคอกหรือสถานที่พักอาศัยของสัตว์ ร่วมกับการใช้ยาฉีดพ่น หรือราดหลัง หรือหยดบนตัวสัตว์ อย่างสม่ำเสมอ

รวมทั้งการปรับภูมิทัศน์บริเวณสถานที่เลี้ยงสัตว์หรือแหล่งรวมสัตว์ ไม่ให้มีแหล่งน้ำขัง หรือแหล่งเพาะพันธุ์แมลง ทำความสะอาดฆ่าเชื้อคอกสัตว์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้มีอุจจาระ ปัสสาวะ หมักหมม ควรเก็บอุจจาระไว้ในสถานที่ป้องกันแมลง และนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี รวมทั้ง เฝ้าระวัง และสังเกตอาการของสัตว์ทุกวัน

ทั้งนี้หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติ หรือแสดงอาการป่วย เช่น ม้า ลา ล่อ แสดงอาการ ซึม มีไข้ (อุณหภูมิมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส) กินอาหารลดลง มีอาการบวมน้ำบริเวณขมับหรือคอ ตาแดงอักเสบ ชัก หรือกระวนกระวายคล้ายอาการเสียดท้อง ส่วนในโค-กระบือ หากพบสัตว์แสดงอาการซึม มีไข้ (อุณหภูมิมากกว่า 39.5 องศาเซลเซียส) ไม่กินอาหาร มีตุ่มนูนตามผิวหนัง หายใจลำบาก ให้เกษตรกรหรือเจ้าของสัตว์ แจ้งเจ้าหน้ากรมปศุสัตว์ ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่

กรณีหากไม่สะดวกสามารถโทรแจ้งมายังสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้เข้าทำการตรวจสอบ ให้การช่วยเหลือและควบคุมโรคโดยทันที และหากพบสัตว์ป่วยที่แสดงอาการสงสัยด้วยโรคระบาดข้างต้น ห้ามทำการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกจากฟาร์มโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไปยังท้องที่อื่นๆ นอกจากนี้ ควรจะเข้มงวดเกี่ยวกับการห้ามยานพาหนะ โดยเฉพาะรถรับซื้อสัตว์ รถอาหารสัตว์ รถรับซื้อมูลสัตว์ เข้าภายในฟาร์มโดยเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม หากจำเป็น ต้องทำการฆ่าเชื้อยานพาหนะจากภายนอกทุกคันที่เข้า-ออกฟาร์มหรือสถานที่เลี้ยงสัตว์ รวมถึงควบคุมแมลงพาหะด้วยสารกำจัดแมลงที่อาจมากับยานพาหนะดังกล่าวด้วย และงดการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่ จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์ของโรคเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ ทั้งนี้หากกรณีเกษตรกรนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่ ควรมีการกักแยกสัตว์ออกจากฝูงเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 28 วัน พร้อมทั้งกางมุ้งกันแมลงหรือใช้สารกำจัดแมลงเพื่อควบคุมแมลงพาหะอย่างเหมาะสม

” ขอเน้นย้ำให้เกษตรกรหรือเจ้าของสัตว์ ดูแลสัตว์ของตนเอง โดยการให้น้ำและอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพให้พอเพียงกับสัตว์ เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ ที่ดี รวมทั้งหมั่นสังเกตอาการของสัตว์อย่างสม่ำเสมอ ป้องกันสัตว์ของตนเองไม่ให้สัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะนำโรคเข้าฟาร์ม ได้แก่ คน ยานพาหนะต่างๆ สัตว์ที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ เป็นต้น และ ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว