“เลิมชัย” ยืนยันเสียงแข็ง ไม่มีใครปิดบัง ASF ระบาดในไทย สั่งกรมปศุสัตว์รายงานข้อเท็จจริงแล้ว

  •  
  •  
  •  
  •  

เฉลิมชัย” ยืนยันเสียงแข็งไม่ได้ปกปิดเรื่องโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาดในประเทศไทย มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ไม่ปิดบัง ไม่มีใครอยากให้พี่น้องประชาชนบริโภคหมูแพง ไม่อยากให้ผู้เลี้ยงหมูขาดทุน แต่เมื่อมีจุดที่บกพร่อง ต้องดำเนินการตรวจสอบ และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ล่าสุดได้สั่งกรมปศุสัตว์รายงานข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบ ย้ำหากพบสุกรป่วยตายผิดปกติรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ตรวจสอบทันที

       ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงถึงกรณีตรวจพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF )  จากการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวสัมผัส (surface swab) ที่โรงฆ่าแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ว่า ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์รายงานข้อเท็จจริงการปฏิบัติงานโดยละเอียดตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน และเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการมาตรการตามมาตรการป้องกันโรค ASF มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยสามารถปลอดเชื้อ ASF มานานกว่า 3 ปี ในขณะที่ประเทศอื่นพบว่ามีการระบาดหนัก

      ขอย้ำว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราป้องกันอย่างดีที่สุด เพราะหากเราไม่ดำเนินการป้องกันแต่แรก จะเกิดการระบาดทั้งประเทศมากกว่านี้ แต่เมื่อมีการตรวจพบเชื้อ ก็ได้เรียกประชุมด่วนและไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยกรมปศุสัตว์จะแจ้งไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ Office International des Epizooties; OIE) ต่อไป และขอยืนยันอีกครั้งว่าเราไม่ได้ปกปิด เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่ปิดบัง ไม่มีใครอยากให้พี่น้องประชาชนบริโภคหมูแพง ไม่อยากให้ผู้เลี้ยงหมูขาดทุน แต่เมื่อมีจุดที่บกพร่อง ต้องดำเนินการตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

      รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ให้กรมปศุสัตว์สรุปตัวเลข ข้อมูลเบื้องต้นได้รับรายงานว่าหมูหายไป 13% จึงมีมาตรการระยะสั้น ห้ามส่งออกในช่วงเวลานี้ อีกทั้งมอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีอธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุว่าไม่เคยรับหนังสือรายงานการพบเชื้อ ASF  เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏชัด

       ในส่วนของการขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินที่ผ่านมานั้น ได้นำไปดำเนินการในเรื่องของเครื่องมือป้องกันและทำลายเชื้อโรค ย่าฆ่าเชื้อ รวมถึงเบี้ยเลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ชุดตรวจ สำหรับเงินชดเชยเยียวยาของสุกรที่อยู่ในข่ายที่มีความเสี่ยงของการติดโรค จะดำเนินการทำลายก่อนเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค โดยกระทรวงเกษตรฯ จะจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรรายเล็กและรายย่อย เนื่องจากเป็นการดูแลผู้เลี้ยงสุกรที่ต้นทุนน้อย และไม่มีความพร้อมในการดูแลฟาร์ม

        ท้ายนี้ ขอความร่วมมือพี่น้องผู้เลี้ยงสุกรในการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมโรคให้สงบได้โดยเร็ว หากพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัย หรือพบสุกรป่วยตายผิดปกติ หรือสัตว์ป่วยตายผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ สามารถแจ้งกรมปศุสัตว์ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 06-3225 -6888 หรือแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง