เกษตรฯถกพาณิชย์ มีมติห้ามส่งออกหมูมีชีวิต 3 เดือน หวังดึงสุกรเป็นเข้าระบบตลาดในประเทศ 1 ล้านตัว

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ หารือพาณิชย์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาเนื้อหมูสดราคาแพง เบื้องต้นพิจารณาห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นการชั่วคราว 3 เดือน มีผลวันที่ 6 มกราคม 2565 –  5 เมษายน 2565 คาดจะช่วยให้มีสุกรมีชีวิต กลับเข้าสู่ระบบตลาดในประเทศประมาณ 1 ล้านตัว จะช่วยให้ราคาปรับลดลง ก่อนเดินหน้าแก้ไขทั้งระยะสั้น และระยะยาว และหาทางลดต้นทุน สร้างความมั่นคงในอาชีพให้ผู้เลี้ยงรายย่อยต่อไป

   นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาเนื้อสุกรสดในประเทศปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโตวิด-19 ซึ่งส่งผลให้ความต้องการของตลาดในประเทศลดลง ประกอบกับเกษตรกรและผู้ประกอบการบางส่วนปรับแผนการผลิต ลดจำนวนสุกรลง รวมถึงปัญหาโรคระบาดในสุกรที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านต้องการสุกรจากไทยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ตลาดสุกรในประเทศมีไม่เพียงพอ ทำให้ราคาเนื้อสุกรสดปรับตัวสูงขึ้น

                                                      ประภัตร โพธสุธน

    ดังนั้น กรมปศุสัตว์ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ได้หารือร่วมกับ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการพิจารณาห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นการชั่วคราว เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2565 – วันที่ 5 เมษายน 2565 โดยคาดว่าจะช่วยให้มีสุกรมีชีวิต กลับเข้าสู่ระบบตลาดในประเทศประมาณ 1 ล้านตัว ซึ่งจะช่วยให้ราคาเนื้อสุกรสดในประเทศมีโอกาสปรับลดลง

    ทั้งนี้หลังจากการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวฯ แล้ว กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งดำเนินการมาตรการระยะสั้น และระยะยาวในทันที โดยจะเร่งฟื้นฟูผู้เลี้ยงรายย่อย 180,000 ราย ส่งเสริมการจัดหาพันธุ์สุกรให้ในราคาทุน โดยจะขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้ผลิตลูกสุกรเพิ่ม ส่งให้เกษตรกรรายย่อยเลี้ยง โดยจะใช้เงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ภายใต้ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” เข้ามาสนับสนุน เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินการ

    นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังร่วมหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะนำเข้าสุกรจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในประเทศในระยะสั้น

    อีกส่วนหนึ่งที่ราคาเนื้อสุกรสดมีราคาสูง เป็นผลมาจากราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น จากการสำรวจ พบว่าต้นทุนของเกษตรกรในการเลี้ยงสุกรให้ได้น้ำหนัก 100 กิโลกรัม มีค่าอาหารเฉลี่ย 6,000 บาท/ตัว แต่จากการสำรวจเดิมของคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร ประเมินไว้ที่ 3,300 บาท/ตัว

    “ตรงนี้เราต้องทบทวนอีกครั้งให้ตรงกันและเป็นต้นทุนที่แท้จริง รวมถึงต้องขอความร่วมมือผู้กับผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ ให้ปรับลดราคาลง โดยวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 มาตรการต่างๆ จะผ่อนคลายลง และสามารถนำเข้าสินค้าได้เป็นปกติ ซึ่งจะทำให้ราคาวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ถูกลง โดยภาครัฐจะเร่งหารือมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยในเรื่องของการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ต้นทุนถูกลง อาทิ ลดภาษี รวมถึงการงดเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ” นายประภัตร กล่าว

    รมช.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ตนได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ เตรียมคู่มือและแผนการอบรม การจัดการฟาร์มแบบ Good Farming Management (GFM) “ฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม” ซึ่งมีราคาไม่สูงมาก และจะช่วยยกระดับการเลี้ยง การจัดการให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ และป้องกันโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการบันทึกข้อมูล การพัฒนาคุณภาพผลผลิต เพื่อให้ได้สินค้าปศุสัตว์และผลผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค