ชี้ 2 สาเหตุคนเลี้ยงหมูอ่วม “โรค-อาหารแพง” แนะให้เว้นวรรค 2 ปี หันไปเลี้ยง วัว ควาย แพะ แกะ ที่เสี่ยงน้อยกว่า

  •  
  •  
  •  
  •  

รองประธานสภาเกษตรฯ “อภิศักดิ์ อังคสิทธิ์” ชี้ 2 สาเหตุหลัก “โรคระบาด-อาหารสัตว์แพง” กระทบผู้เลี้ยงสุกร แนะเกษตรกรรายย่อย หากขาดทุน ต้องแบกภาระหนี้ต้องเว้นวรรคก่อนอย่างน้อย 2 ปั หันไปเลี้นงโค กระบือ แพะ แกะ จนกว่าจะมีวัคซีนป้องได้ 

 

        นายอภิศักดิ์  อังคสิทธิ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ  คนที่ 1 และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดบุรีรัมย์กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงสุกรในภาวะปัจจุบัน ว่า เกษตรกรอยู่ในอาการที่ได้รับผลกระทบต่างกันตรงที่เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อย รายกลาง รายใหญ่ ปัญหาของผู้เลี้ยงสุกรมี 2 เรื่องหลักๆ คือ โรคและอาหารสัตว์  โรคตอนนี้มี อหิวาต์สุกร(ASF)  เพิร์ส(PRRS)  ปากและเท้าเปื่อย  ส่วนอาหารสัตว์ ตอนนี้ราคาแพงทุกอย่าง เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง ปลายข้าว  เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น  

     อย่างไรก็ตาม ถ้าทั้ง 2 ปัญหามาพร้อมกันควรเว้นวรรคการเลี้ยง หรือปรับเปลี่ยนเป็นการเลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ เหตุเพราะมีวัคซีนป้องกันโรคและมีความปลอดภัยสูง ในขณะที่สุกร ณ วันนี้ยังไม่มีวัคซีป้องกันมีเพียงข่าวที่ไม่มีที่มาว่าประเทศสหรัฐอเมริกา จีน ทำการทดลอง หรือกลางปี 2565 จะมีวัคซีน ซึ่งไม่มีใครยืนยันได้  เป็นไปได้อยากให้สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยมีคณะที่เกี่ยวข้องด้านปศุสัตว์ เข้ามามีส่วนคิดค้นจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเป็นอย่างมาก 

       นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกว่า การจัดการฟาร์มสุกรให้มีมาตรฐาน ปัจจุบันยังไม่ชัดเจน สถานการณ์ตอนนี้ให้อนุโลมเว้นระยะสัก 2 ปีก่อน เหตุเพราะมีความอ่อนไหวหากเลี้ยงแล้วขาดทุน ต้นทุนสูงก็ไม่อยากเลี้ยงเพราะเสี่ยง  เรื่องความสะอาดการปนเปื้อนต้องระวังให้มาก เพราะส่วนใหญ่คอกเลี้ยงกับโรงเชือดจะอยู่ติดกัน พอเชือดแล้วส่งขายตลาดนัดบ้าง รถพุ่มพวงบ้าง โดยเฉพาะสุกรหนีโรคยิ่งน่าห่วงใย การควบคุมจะทำได้ยากกว่า เพราะเจ้าหน้าที่ของภาครัฐมีจำนวนน้อย  

       ส่วนรายใหญ่ต้องแยกเป็นลักษณะโรงเรือนปิดกับเปิด โรงเรือนในระบบปิดปัญหาน้อยกว่าโรงเรือนระบบเปิดเพราะฉะนั้นต้องกำหนดรูปแบบฟาร์มให้ชัดเจน พื้นที่ประกอบการเลี้ยงต้องโปร่ง โล่ง  สุกรจะได้ไม่เครียด  อาหารต้องสดชวนกิน  พื้นที่เลี้ยงกับโรงเชือดควรกำหนดระยะห่าง  กำแพง  รั้ว  ถนนตัดใหม่  พื้นที่ก่อนนำสุกรเข้าเลี้ยง ทางเข้า/ออก ต้องคนละทาง  คลอรีนในน้ำ  ยาฆ่าเชื้อ  คนเลี้ยง/ดูแลต้องคอกใครคอกมัน ไม่งั้นอาจสุ่มเสี่ยงเกิดการปนเปื้อน รวมถึงสภาพแวดล้อม  กลิ่น  ระบบน้ำ ของเสียมีเยอะมากอาจนำไปสู่ระบบพืชพันธุ์ธัญญาหารรอบพื้นที่อาณาบริเวณนั้น  ทุกอย่างต้องสมดุลและต้องใช้ทุกสิ่งอย่างให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น น้ำปุ๋ยที่เกิดจากฟาร์มนำไปปรับปรุงดิน รดแปลงหญ้า กล้วย มะพร้าว งอกงามดีมาก ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพ   

         “ระยะนี้นะไม่ควรเลี้ยงหมู ไม่ใช่ว่ากลัวมาแย่งชิงราคาหรือตลาดนะ แต่ด้วยความเป็นห่วง อาหารสัตว์ตอนนี้ราคาสูงขึ้นบางพื้นที่ขาดแคลน ไหนจะโรคอีก เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนและความเสี่ยง  ในฐานะที่เป็นผู้เลี้ยงคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ ซึ่งเริ่มต้นการเลี้ยงจากหมู 2 ตัว ขยับขยายจนปัจจุบันที่พรประเสริฐฟาร์ม จ.บุรีรัมย์ เป็นฟาร์มใหญ่ อยากให้เว้นวรรคจนกว่าวัคซีนหมูจะออกมา เปลี่ยนไปเลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ หรือทำเกษตรอื่นๆ แต่ถ้าถามว่าโรคนี่อยู่กับมันได้ไหม ก็เหมือนโควิดที่เป็นไวรัสคนปรับตัวแล้วอยู่กับมันได้ โรคสุกรก็เป็นไวรัส ฉะนั้นดูแลเขาได้เหมือนคน โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด อาหาร ไม่เครียด ต้องแข็งแรง เหล่านี้เป็นต้น”  นายอภิศักดิ์ กล่าว