น.สพ.สรวิศ ธานีโต
กรมปศุสัตว์สั่งปศุตว์จังหวัดอำเภอทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีก หลังจากได้รับรายงานเกษตรกรจีนผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ติดเชื้อไข้หวัดนกในคน H5N6 ตายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบอีกแล้วที่เมืองหยงโจว มณฑลหูหนาน
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากรายงานของคณะกรรมการศูนย์ป้องกันทางด้านสุขภาพของประเทศฮ่องกง (CHP) ในวันนี้ (30 ต.ค.64) ยืนยันพบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิด H5N6 ในคน เป็นเพศชาย อายุ 66 ปี อาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก อาศัยอยู่ในเมืองหยงโจว ของมณฑลหูหนาน ซึ่งเริ่มมีอาการมาตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2564 และได้เข้ารับการตรวจรักษา ปัจจุบันอาการยังอยู่ในภาวะวิกฤติ หลังจากก่อนหน้านี้ เมื่อกลางเดือนเดียวกันพึ่งมีรายงานพบในคน เพศหญิง อายุ 60 ปี ในมณฑลเดียวกัน
หากนับรวมตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีรายงานการพบไข้หวัดนก H5N6 ในคนแล้ว 49 ราย และเสียชีวิต 25 ราย ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการรายงานการติดเชื้อที่เกิดในปลายปีที่แล้ว และพบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ ได้มีมาตรการชะลอการนำเข้า นำออก หรือผ่านราชอาณาจักร สำหรับประเทศที่พบการรายงานการเกิดไข้หวัดนกชนิดรุนแรง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนเชื้อมาสู่ประเทศไทย
ส่วนในประเทศไทยปัจจุบันไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกทั้งในคนและสัตว์ แต่กระนั้นปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพอากาศทำให้สัตว์ปีกปรับตัวได้ยาก อาจส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ปีก ทำให้สัตว์ปีกอ่อนแอ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีคำสั่งการให้สำนักงาน ปศุสัตว์จังหวัดและปศุสัตว์อำเภอทั่วประเทศ เข้มงวดในการดำเนินมาตรการ เฝ้าระวังและป้องกันโรคในพื้นที่ สั่งให้เจ้าหน้าที่ ปศุสัตว์เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรทุกราย และรายงานสถานการณ์สัตว์ปีกทุกวัน
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวอีกว่า การป้องกันที่ดีถือเป็นหัวใจของความสำเร็จ ที่ทำให้ไทยปลอดจากไข้หวัดนกมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ทั้งในคนและสัตว์จากการที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกทั่วประเทศจัดการระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือนและบริเวณโดยรอบ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มเข้มงวดเรื่องระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม ควบคุมการเข้า-ออกฟาร์ม ให้ฉีดพ่นยานพาหนะทุกคัน
ทั้งนี้เมื่อได้รับแจ้งหรือพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ หรือมีอาการต้องสงสัยเหมือนนิยามโรคไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ก็ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการควบคุมโรคทันที รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญ กรมปศุสัตว์ มีการเฝ้าระวังโรคสัตว์ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application: DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด