กระทรวงเกษตรฯ นำทีมปศุสัตว์ ลงพื้นที่เขต 8 และ 9 ประชุมซักซ้อมแผนการอพยพสัตว์เลี้ยง เตรียมรับมืออุทกภัย 14 จังหวัดภาคใต้ “ประภัตร” พูดชัดให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ด้านปศุสัตว์อย่างครอบคลุมทุกมิติ
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมซักซ้อมแผนป้องกันและเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับภัยพิบัติในพื้นที่สำนักงานปศุสัตว์เขต 8 และเขต 9 พื้นที่ 14 จังหวัด ภาคใต้ ณ ห้องประชุมศูนย์ฝึกอบรมประจำสำนักงานปศุสัตว์ เขต 9 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เขต 8 – 9 และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่เข้าร่วม
นายประภัตร กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์น้ำของภาคกลางที่กำลังส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรและปศุสัตว์นั้น คาดว่าทางภาคภาคใต้จะได้รับผลกระทบในเดือนพฤศจิกายน 2564 ตนจึงได้ลงพื้นที่มาเพื่อประชุมซักซ้อม เตรียมรับมือในครั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบ และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกับเกษตรกรที่ประกอบอาชีพปศุสัตว์ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ขณะนี้ ปศุสัตว์เขต 8 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดพังงา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดพัทลุง ได้ปรับปรุงฐานข้อมูลเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เรียบร้อยแล้ว และได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากฐานข้อมูลที่มีอยู่เดิม โดยกำหนดพื้นที่อุทกภัยซ้ำซากไว้แล้ว รวมถึงได้เตรียมแผนอพยพสัตว์ในพื้นที่ความเสี่ยงสูง โดยมีการจัดตั้งศูนย์อพยพ 282 จุด
ในส่วนของเสบียงอาหารสัตว์สำรอง หน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่ได้เตรียมหญ้าแห้งสำรองกว่า 1,300 ตัน อาหารหมัก 16,000 กิโลกรัม นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ได้เตรียมพร้อมเพิ่มเติมอีกกว่า 1 ล้านกิโลกรัม สำหรับการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาด้านปศุสัตว์ ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของยานพาหนะและบุคลากรไว้แล้ว พร้อมทั้งจัดเตรียมถุงยังชีพเบื้องต้น 1,000 ถุง เวชภันณ์รักษาสัตว์ต่างๆ อย่างพร้อมเพียง ในกรณีน้ำท่วมสูงเป็นระยะเวลานาน ได้เตรียมความพร้อมในการจัดหาอาหารสัตว์เร่งด่วนฉุกเฉินไว้แล้ว นอกจากนี้ เรื่องของการป้องกันโรคระบาดสัตว์ อาทิ โรคปากเท้าเปื่อย ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนในสัตว์แล้ว 458,721 ตัว ส่วนโรคลัมปีสกิน กำลังทยอยฉีดวัคซีนอย่างเต็มประสิทธิภาพ
สำหรับเขต 9 มี 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส ได้มีการปรังปรุงทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เรียบร้อยแล้ว และได้เตรียมจุดอพยพสัตว์ในพื้นที่ ไว้ 397 จุด ในส่วนของเสบียงสัตว์สำรองนั้น ได้เตรียมหญ้าแห้งกว่า 1 ล้านกิโลกรัม อาหารหมัก 80,000 กิโลกรัม และกำลังผลิตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง สำหรับเรื่องของการป้องกันโรคระบาดในสัตว์นั้น ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนปากเท้าเปื่อยไว้แล้ว ส่วนโรคลัมปี – สกินนั้น ได้รับการจัดสรรวัคซีนรอบแรก 47,000 โด๊ส ดำเนินการฉีดเรียบร้อยแล้ว ในส่วนของการจัดสรรรอบที่ 2 83,000 โด๊ส กำลังดำเนินการฉีดอย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ นายประภัตร ยังขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภาคใต้ ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการสานฝันสร้างอาชีพและยกระดับรายได้เกษตรกร ซึ่งเป็นโครงการที่กรมปศุสัตว์ และธนาคารอาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ได้ทำร่วมกัน โดยจะสนับสนุนเงินกู้ เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กับเกษตรกร เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพในกิจกรรมที่มีตลาดรองรับชัดเจน มีการประกันราคารับซื้อผลผลิต รอบการผลิตสั้น สามารถสร้างรายได้ในระยะเวลา 6 เดือน
ในกรณีที่ใช้เป็นเงินลงทุน 3 ปีแรก ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ปีที่ 4 – 5 ดอกเบี้ยตามปกติของธนาคาร เน้นปล่อยกู้ให้กับเกษตรกรรายบุคคล สามารถใช้ผู้คำประกัน หรือสินทรัพย์ค้ำประกันก็ได้ โดยหากเกษตรกรท่านใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดโครงการได้ที่ธนาคารธกส. หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่