จัดทัพขนสินค้าสัตว์น้ำร่วมงาน “Thai Seafood Festival” @ สปป.ลาว ตอกย้ำอาหารทะเลไทยปลอดภัยไร้โควิด

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                          ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง

ผู้ประกอบการไทย จัดทัพขนสินค้าสัตว์น้ำสดๆ ร่วมงาน “Thai Seafood Festival” @ สปป. ลาว ระหว่างวันที่ 20 – 22 สิงหาคม 2564 นี้ ตอกย้ำความมั่นใจ..คุณภาพอาหารทะเลไทยสด สะอาด ปลอดภัยไร้โควิด-19

     กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และสปป.ลาว  ร่วมงาน “อาหารทะเลไทย ปลอดภัยจากการปนเปื้อนโควิด-19″ (Thai Seafood Festival) ณ ตลาดบึงทาดหลวง นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระหว่างวันที่ 20 – 22 สิงหาคม 2564 นี้ 

     ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า สปป.ลาว เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปีมีการนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท แต่ในช่วงที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สปป.ลาวได้ระงับ การนำเข้าอาหารทะเลเป็นการชั่วคราว

    อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างความมั่นใจให้กับอาหารทะเลของไทย จนในที่สุดด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ตลาดของสปป.ลาว เปิดรับอาหารทะเลจากประเทศไทยอีกครั้ง และในระหว่างระหว่างวันที่ 20 – 22 สิงหาคม 2564 นี้  จะมีการจัดงาน“อาหารทะเลไทย ปลอดภัยจากการปนเปื้อนโควิด-19 (Thai Seafood Festival)

    ทั้งนี้เป็นงานที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของประเทศไทย และ สปป.ลาว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่ร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน สุดท้ายนี้กรมประมงขอยืนยันว่าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากประเทศไทยสด สะอาด ปลอดภัย ตามมาตรฐานสากล และมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างแน่นอน

เนื่องจากที่ผ่านมากรมประมงได้ให้ความสำคัญในเรื่องของมาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food Safety) ของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศไทยเป็นอย่างมาก และขอยืนยันว่าเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถปนเปื้อนเข้าไปอยู่ในตัวสัตว์น้ำได้ เนื่องจากยังไม่พบรายงานการปนเปื้อนเชื้อในตัวสัตว์น้ำ อีกทั้งสัตว์น้ำจัดเป็นสัตว์เลือดเย็น และใช้เหงือกในระบบการหายใจ จึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับการระบาดที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ เพราะสัตว์น้ำไม่ใช่พาหะในการกระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 สู่คน แต่ส่วนใหญ่ที่พบจะเกิดขึ้นจากการปนเปื้อนของกระบวน การผลิตที่มนุษย์ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง

      ล่าสุดหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) การปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออกร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ

     นอกจากนี้ กรมประมงได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนไวรัสโคโรน่า 2019 ในสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวประมง เรือประมง สุขอนามัยเรือประมง ผู้ประกอบการสะพานปลา/ตลาดกลางค้าสัตว์น้ำ และผู้ประกอบการร้านค้า Modern trade เพื่อให้ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปมีความมั่นใจในความปลอดภัยของสัตว์น้ำที่ใช้บริโภค