เห็นพ้อง “จิ้งหรีด” แมลงกินได้ ต้นแบบแหล่งโปรตีนทางเลือก .. สู่ตลาดโลก

  •  
  •  
  •  
  •  

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระดมมันสองนักวิชาการสะท้อนถึง “โปรตีนทางเลือก…อาหารใหม่ อาหารแห่งอนาคต “แมลงกินได้” ” ภายใต้แนวคิดอาหารปลอดภัย ทุกคนเห็นพ้อง “จิ้งหรีด” ตอบโจทย์ที่มีการบริโภคมากที่สุด  ชี้ประเทศไทยมีศักยภาพที่พร้อมผลิตจิ้งหรีดป้อนตลาดโลก  เผยส่งออกแล้วที่แม็กซิโค ล่าสุดตลาดยุโรปอยู่ในขั้นการพิจารณา  

      เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ศูนย์นวัตกรรมวิทยาการอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือเคยูเฟิร์สท (KU-FIRST) จัดเว็บบินาร์ในหัวข้อเรื่อง “โปรตีนทางเลือก…อาหารใหม่ อาหารแห่งอนาคต “แมลงกินได้” ” ภายใต้แนวคิดอาหารปลอดภัย โภชนาการมั่นคง ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการ และผู้สนใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมได้จริง

      ผศ.ดร.วราภา มหากาญจนกุล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมวิทยาการอาหาร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า KU-FIRST เป็นหน่วยงานในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการอาหาร ทั้งในด้านโภชนาการและความปลอดภัยอาหาร โดยร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก

      สำหรับ “ แมลงกินได้ ” มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในฐานะแหล่งโปรตีนทางเลือกและอาหารแห่งอนาคต ด้วยคุณสมบัติการเป็น superfood ที่มีจุดเด่นในการเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพ และอุดมด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อตอบโจทย์ทั้งทางด้านความมั่นคงทางอาหารและการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในยุคนิวนอร์มอล KU-FIRST

       ดังนั้นจึงจัดเว็บบินาร์หรือสัมมนาออนไลน์อย่างต่อเนื่องครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ในหัวข้อ“โปรตีนทางเลือก…อาหารใหม่ อาหารแห่งอนาคต “แมลงกินได้” เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภคเกี่ยวกับแมลง ความสำคัญของกฎระเบียบและมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่อการส่งออก การเพาะเลี้ยง การจัดการฟาร์ม เพื่อผลิตอาหารปลอดภัย รวมถึงคุณค่าและโภชนาการ

      การสัมมนาในครั้งนี้มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.รุจิเรช น้อยเสงี่ยม นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ผศ.ดร.ชามา อินซอน ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผศ.ดร.วศะพร เพรททิเซย์ จันทร์พุฒ ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

      ดร.รุจิเรช น้อยเสงี่ยม นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและโอกาสก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตอาหารทางเลือกจากแมลงป้อนตลาดโลก ด้วยจุดแข็งด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะเลี้ยงแมลงหลายชนิด มีองค์ความรู้ด้านมาตรฐานการผลิตเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะจิ้งหรีดซึ่งเป็นแมลงกินได้ต้นแบบ ที่ได้รับการยกระดับผลิตตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ. 8202-2560) และมีการส่งเสริมการส่งออกอย่างเป็นรูปธรรม

      ดร.รุจิเรช กล่าวอีกว่า  ในหลายประเทศแมลงกินได้ยังถือว่าเป็นอาหารใหม่ หรือ Novel food และไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนด ประเทศที่มีกฎระเบียบในการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากแมลงที่ชัดเจนในปัจจุบัน คือ เม็กซิโกและสหภาพยุโรป สำหรับสหภาพยุโรปปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลทางเทคนิคเพื่อขอเปิดตลาดตามกฎระเบียบ Novel Food

     อย่างไรก็ตาม สำหรับเม็กซิโกที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรของไทยได้สร้างระบบการควบคุมความปลอดภัยอาหารของผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดตลอดห่วงโซ่และเจรจาสร้างความเชื่อมั่นในระบบของไทย จนสามารถเปิดตลาดเม็กซิโกได้สำเร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดหรือแมลงกินได้ไปยังประเทศที่ต้องการใบรับรองสุขอนามัยจากหน่วยงานรัฐของไทย

         นอกจากนี้ ดร.รุจิเรข ยังเน้นย้ำอีกว่า กฎระเบียบและมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหาร ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ควบคุมและป้องกันความเสี่ยงจากอาหารต่อสุขภาพผู้บริโภค แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระยะยาว คือ ความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารรวมถึงผลิตภัณฑ์แมลงกินได้ของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนต่อไป ”

        ส่วน ผศ.ดร.ชามา อินซอน ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กล่าวถึงศักยภาพของ “จิ้งหรีด” ในการเป็นแมลงเศรษฐกิจว่า “ประเทศไทยสามารถผลิตจิ้งหรีดเพื่อการค้าสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเศรษฐกิจ “BCG Model” ได้ การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์นั้น ผู้เลี้ยงจิ้งหรีดจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องชนิด วงจรชีวิต พฤติกรรมของจิ้งหรีด และการจัดการระบบฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานที่เรียกว่า

      “การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด” หรือ GAP ฟาร์มจิ้งหรีด รวมทั้งควรใช้เทคโนโลยีในการจัดการฟาร์มที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับแบบเรียลไทม์ (real-time traceability) ได้ จึงจะส่งผลให้ผลผลิตจิ้งหรีดที่ได้จากฟาร์มมีคุณภาพดี เป็นอาหารที่ปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้แล้ว การแปรรูปจิ้งหรีดเป็นผง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตจิ้งหรีด เนื่องจากเป็นอาหารแหล่งโปรตีนสูงเพื่อสุขภาพ เพื่อผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและการส่งออก ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น” ผศ.ดร.ชามา กล่าว

        ขณะที่   ผศ.ดร.วศะพร เพรททิเซย์ จันทร์พุฒ ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญต่อความปลอดภัยอาหารของแมลงก็คือ ระบบการขนส่งที่ไม่ได้มาตรฐานเรื่องความเย็น และความสะอาด ทำให้เกิดการปนเปื้อนของแบคทีเรียที่สามารถเปลี่ยนกรดอะมิโนฮิสทิดีน (histidine) เป็นฮิสตามีน (histamine) ก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้กับผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ แมลงกินได้ยังมีโปรตีนบางชนิดคล้ายกับโปรตีนก่อภูมิแพ้ (allergen) ในสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง ปู กั้ง ดังนั้นผู้บริโภคที่มีประวัติการแพ้โปรตีนจากสัตว์ทะเลเปลือกแข็งจึงไม่ควรรับประทานแมลง

      “ จุดเด่นที่สุดของแมลง คือ แมลงมีปริมาณโปรตีนสูงกว่าร้อยละ 50 ของน้ำหนักแห้ง มีกรดไขมันที่เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (monounsaturated fatty acid) และหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fatty acid) รวมทั้งมีโปรตีนที่มีความสามารถในการย่อยได้สูง (protein digestibility) อุดมไปด้วยกรดอะมิโนจำเป็นครบเกือบทุกชนิด (essential amino acid) จึงกล่าวได้ว่าโปรตีนแมลงเป็นโปรตีนแห่งอนาคต” ผศ.ดร.วศะพร กล่าว

ข่าวโดย… ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์