สุ่มตรวจเนื้อไก่จากโรงงานแปรรูปที่พนักงานติดโควิดย่านสระบุรี ยันหากพบเชื้อห้ามขายเด็ดขาด

  •  
  •  
  •  
  •  

ทีมสัตวแพทย์เร่งสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปจากโรงงานที่พบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 ที่สระบุรี ยันหากพบเชื้อปนเปื้อนจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายเด็ดขาด  กรมปศุสัตว์ ยืนยันผลการสุ่มตรวจเนื้อสัตว์ในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์เพื่อการส่งออกกว่า 2,620 ตัวอย่าง ไม่พบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อแต่อย่างใด เผยมีโอกาสความเป็นไปได้น้อยมากที่เนื้อสัตว์จะปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วย เพราะเชื้อไม่สามารถเพิ่มจำนวนในเนื้อสัตว์ได้ และมีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมได้ต่ำ แนะให้บริโภคที่ทำสุกแล้วหรือเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง “ปศุสัตว์ OK”

   นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดถึงพบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ลพบุรี หลังจากหน่วยงานสาธารณสุขตรวจค้นหาเชื้อเชิงรุกว่า ได้รับการยืนยันมาว่าพบผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่ง โดยผู้ที่ติดเชื้อและผู้ที่อยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยง ได้ถูกคัดแยกออกเพื่อเข้ารับการรักษาและกักตัวเพื่อสังเกตอาการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และบริษัทฯ ได้หยุดการผลิตพร้อมทั้งทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทันที รวมทั้งสุ่มเก็บตัวอย่าง (swab) และตามพื้นที่ที่เกี่ยวข้องแล้วไม่พบว่ามีเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่

   อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์มีมาตรการกำกับดูแลการผลิตเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดตามหลักสุขอนามัยที่ดีมาโดยตลอด รวมถึงกำชับให้เจ้าหน้าที่ของโรงงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค COVID-19 อย่างเคร่งครัด นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค COVID-19 กรมปศุสัตว์ได้จัดทำแผนสุ่มตัวอย่างเนื้อสัตว์ในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์เพื่อการส่งออก โดยตัวอย่างไปแล้ว จำนวน 2,620 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างไม่พบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อ COVID-19 สำหรับโรงงานที่ปรากฏตามข่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีได้มีคำสั่งประกาศให้โรงงานหยุดการผลิตและปิดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคแล้ว

     สำหรับสินค้าที่ถูกผลิตในช่วงเวลาที่พบผู้ติดเชื้อ เจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าเพื่อตรวจวิเคราะห์หาเชื้อไวรัส COVID-19 ทุกวันผลิต หากพบสินค้าที่มีความเสี่ยงหรือปนเปื้อนเชื้อไวรัส COVID-19 กรมปศุสัตว์จะไม่อนุญาตให้จำหน่ายหรือส่งออกเนื้อไก่ดิบ ดังนั้น จึงขอให้มั่นใจว่าเนื้อไก่มีความปลอดภัยไม่ปนเปื้อนเชื้อ COVID-19 อย่างแน่นอน

     นอกจากนี้ ข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน ทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), และหน่วยงานด้านอาหาร Food Authority of Ireland, European Food Safety Authority (EFSA) หรือ United Sate Food and Drug Administration (USFDA) ต่างยืนยันว่าอาหารไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 และในกรณีที่เนื้อสัตว์ปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วยก็มีโอกาสน้อยมากที่จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถเพิ่มจำนวนในเนื้อสัตว์ได้ และเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมได้ต่ำและถูกทำลายได้ง่าย ปริมาณของเชื้อไวรัสจึงไม่เพียงพอที่จะก่อโรคได้

     “ขอให้ประชาชนรับประทานเนื้อสัตว์ปรุงสุก เพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกสามารถทำลายได้ด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที และถ้าความร้อนสูงขึ้นระยะเวลาก็จะสั้นลง และถ้าต้มให้เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เชื้อโควิด-19 ทั้งหมดจะถูกทำลายทันที และที่สำคัฯขอแนะนำให้เลือกเนื้อสัตว์จากสถานที่จำหน่ายที่สะอาด โดยต้องมีใบรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือให้สังเกตตราสัญลักษณ์ ปศุสัตว์ OK สงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ กลุ่มตรวจสอบมาตรฐานด้านการปศุสัตว์ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ (สพส.) กรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-653-4444 ต่อ 3134″  อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว