ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม
นายกสมาคมสัตว์แพทย์ฯ ชี้ไข้หูดับเกิดเชื้อแบคทีเรียสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส ยืนยันไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขลักษณะของผู้บริโภค ระบุติดเชื้อได้ 2 ทางคือทางการกินและการสัมผัสเชื้อโดยตรง แต่ป้องกันได้ ให้บริโภคหมูปรุงสุกเท่านั้น แนะให้ซื้อจากแหล่งผลิตมาตรฐาน เน้น “ปศุสัตว์ OK” ปลอดภัยแน่น
ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย กล่าวว่า โดยปกติการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococus suis) เกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์ดิบ หรือสุกๆดิบๆ อาทิ ลาบดิบ ก้อย ส้า หลู้หมู ซอยจุ๊ ก๋วยเตี๋ยวหมูหมก แหนมดิบ รวมถึงการปิ้งย่างแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคไข้หูดับ หรือทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นสาเหตุให้เกิดประสาทหูดับเฉียบพลัน สูญเสียการได้ยิน จนอาจทำให้หูหนวกถาวร การติดเชื้อในกระแสเลือด และกรณีร้ายแรงที่สุดอาจเสียชีวิตได้
ส่วนกรณีล่าสุดที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว หลังจากการสอบสวนโรคพบว่า อาจมีโอกาสที่จะเกิดจากเชื้อเข้าทางบาดแผล ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้พบบ่อยนัก ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนก เพราะมีวิธีการป้องกันได้ ด้วยการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกเท่านั้น โดยการรับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิด ต้องปรุงให้สุกที่อุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที เพื่อให้มั่นใจว่าเนื้อสุกทั่วถึง และเชื้อโรคต่างๆจะถูกทำลายได้ในอุณหภูมิและเวลาดังกล่าว
“ไข้หูดับไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขลักษณะของผู้บริโภค โอกาสติดเชื้อมีสองทางคือทางการกินและการสัมผัสเชื้อโดยตรง ดังนั้นการป้องกันคือคำตอบที่ดีที่สุด โดยต้องเลิกรับประทานเนื้อสัตว์ดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบอย่างเด็ดขาด กรณีที่มีบาดแผลที่มือ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อสัตว์หรือเลือดสัตว์ โดยต้องสวมถุงมือป้องกัน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากเชื้อที่อาจปนเปื้อนจากแผลที่มือเข้าสู่เนื้อหมูหรือจากเนื้อหมูเข้าสู่แผล ต้องแยกอุปกรณ์สำหรับอาหารดิบและอาหารสุกออกจากกัน เพื่อป้องกันอีกระดับหนึ่ง เช่นการใช้เขียง หรือการใช้ตะเกียบสำหรับคีบเนื้อสด และเนื้อสุก ควรแยกกันด้วย จึงจะปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ” ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ กล่าว
นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ย้ำว่า ผู้บริโภคให้หลีกเลี่ยงการรับประทานหมูที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือจากแหล่งจำหน่ายที่ไม่ผ่านการรับรองของกรมปศุสัตว์ ควรเน้นเลือกซื้อเนื้อหมูจากฟาร์มมาตรฐาน GAP หรือ GFM และผ่านโรงฆ่าที่ได้มาตรฐาน จำหน่ายในสถานที่จำหน่ายที่กรมปศุสัตว์รับรอง หรือสังเกตเครื่องหมาย “ปศุสัตว์ OK” ที่ปัจจุบันกระจายอยู่ทั่วประเทศ มากกว่า 7 พันจุดทั่วประเทศ
ส่วนวิธีการป้องกันสำหรับผู้ทำงานที่ต้องใกล้ชิดหรือสัมผัสตัวหมู เนื้อ เลือด ต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน อาทิ รองเท้าบู๊ท ถุงมือยาง สวมเสื้อผ้าที่รัดกุม หากมีบาดแผลต้องปิดให้มิดชิดหรือสวมถุงมือ ล้างและฟอกสบู่ทุกครั้งที่สัมผัสหมูดิบหรือชำแหละหมู สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% หมั่นล้างมือทุกครั้ง ซึ่งนอกจากจะป้องกันไข้หูดับแล้ว ยังช่วยป้องกันเชื้อโควิด-19 อีกด้วย