“ประภัตร” ยืนยันวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ล็อตแรก 6 หมื่นโดส กระจายไปยังพื้นที่ทั้งหมดที่มีการระบาดแล้ว เผยสัปดาห์หน้าจะมีการนำเข้าล็อตใหม่เพิ่มอีก 3 แสนโดส กำชับปศุสัตว์เร่งควบคุมสถานการณ์การระบาด และเยียวยากรณีสัตว์ตายหรือป่วยตายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดรารยละไม่เกิน 2 ตัว
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี-สกิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการระบาดในหลายจังหวัด ซึ่งในวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรม Kick off รณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี-สกิน ทั่วประเทศ และได้ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิดในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มุกดาหาร และสกลนคร
ประภัตร โพธสุธน
ในส่วนของวัคซีน LSDV ป้องกันโรคลัมปี–สกิน กรมปศุสัตว์ได้มีการนำเข้าวัคซีนมาแล้ว 60,000 โด๊ส และได้กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งหมดที่มีการระบาดแล้ว และสัปดาห์หน้าจะมีการนำเข้าวัคซีนมาเพิ่มอีก 300,000 โด๊ส ซึ่งในเบื้องต้นได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์กระจายการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้กรมปศุสัตว์วางแผนในการฉีดวัคซีนให้เกิดประสิทธิภาพ และให้เป็นไปตามแผนการป้องกันการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
“การแพร่ระบาดของลัมปี–สกินที่เกิดขึ้น ผมในฐานะที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ไม่ได้นิ่งนอนใจ หลังจากที่มีการนำเข้าวัคซีน ผมได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดให้เป็นไปตามแผนการระงับยับยั้งการระบาด โดยหลังจากที่มีข่าวว่ามีโค–กระบือเสียชีวิต โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ล่าสุดได้มีการสั่งการให้กรมปศุสัตว์เข้าไปดำเนินการตรวจสอบและใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่และลดความเดือดร้อนของเกษตรกร” นายประภัตร กล่าว
สำหรับมาตรการที่กรมปศุสัตว์เตรียมการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี-สกิน ในกรณีที่เป็นการชดเชยกรณีสัตว์ตายหรือป่วยตายนั้น จะดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 โดยมีขั้นตอน คือ 1) รวบรวมข้อมูลความเสียหาย 2) รวบรวมข้อมูลเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ปศุสัตว์อำเภอ) 3) รวมรวมข้อมูลเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ปศุสัตว์จังหวัด) และ 4) ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ปศุสัตว์จังหวัดหรือกรมปศุสัตว์
ทั้งนี้ จะชดเชยตามจริงแต่ไม่เกินรายละ 2 ตัว เป็นเงินสดผ่านบัญชีเงินฝากของเกษตรกรตามหลักเกณฑ์ คือ กรณีโค-กระบือ อายุ 6 เดือน โดยโคจะชดเชย 6,000 บาท กระบือชดเชย 8,000 บาท กรณีโค – กระบือ อายุ 6 เดือน – 1 ปี โคชดเชย 12,000 บาท กระบือชดเชย 14,000 บาท กรณีโค–กระบือ อายุ 1 ปี – 2 ปี โคชดเชย 16,000 บาท กระบือชดเชย 18,000 บาท และกรณีโค-กระบือ อายุ 2 ปี โคชดเชย 20,000 บาท กระบือชดเชย 22,000 บาท
หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายใด ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคลัมปี-สกิน และมีความประสงค์จะขอรับการเยียวยา ขอให้ติดต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ใกล้บ้าน หรือศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ทางโทรศัพท์ 0-2653-4444 ต่อ 3315 และ e-mail : disaster@dld.go.th