ภาพที่โพสต์ในสื่อออนไลน์และแชร์ต่อๆกัน
อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยัน “โรคลัมปี สกิน” เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค-กระบือเท่านั้นไม่ติดต่อถึงสุกร และคนแต่อาจติดต่อแพะได้ ชี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย แนะหากเกษตรกรพบว่าสัตว์เลี้ยงของท่านมีอาการดังข้างต้น ขอให้รีบแจ้งสายด่วนแจ้งโรคระบาดกรมปศุสัตว์ call center 063-2256888
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงกรณีที่สิ่อโซเชียลได้เผยแพร่ข่าวลัมปี สกินติดต่อมาถึงสุกรที่ว่า “ช่วงนี้คนชอบกินเนื้อวัว เนื้อหมู ต้องพิจารณาดีๆ ลามถึงหมูแล้ว” และเผยแพร่ภาพโคป่วยด้วยอาการเป็นตุ่มทั่วตัวด้วยโรคลัมปี สกิน เทียบภาพคู่กับภาพสุกรมีอาการเป็นตุ่มแดงที่บริเวณขาหลังว่า โรคลัมปี สกิน เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สำคัญในโคกระบือ ซึ่งมีรายการการศึกษาว่าติดต่อสู่แพะได้ แต่ไม่ติดต่อสู่สัตว์ชนิดอื่น อาทิเช่น สุกร สุนัข และไม่ใช่โรคที่ติดสู่คนด้วย
น.สพ.สรวิศ ธานีโต
ทั้งโรคลัมปี สกหินนั้น เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอันฑะและหว่างขา ตุ่มที่ขึ้นอาจแตก ตกสะเก็ดและเกิดเป็นเนื้อตาย หรือมีหนอนแมลงมาไชได้ อาจพบตุ่มน้ำใสขึ้นที่เยื่อเมือก ทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการน้ำลายไหล ตาอักเสบ มีตุ่มขึ้นที่เยื่อเมือก อัตราการป่วยอยู่ที่ 5 – 45 % อัตราการตายน้อยกว่า 10% แต่อาจมีอัตราการตายสูงในพื้นที่ที่ ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน ผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่ที่ผลผลิตที่ลดลง
สำหรับ ภาพสุกรมีรอยโรค ตุ่มนูนแดง กระจายตัวที่บริเวณขาหลัง นั้น อาการแสดงลักษณะนี้ สามารถวินิจฉัยแยกโรคออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กรณีโรคไม่ติดเชื้อ เช่น แมลงกัดต่อยจนเกิดอาการของเป็นตุ่มนูนแดง หรือกรณีโรคติดเชื้อ เช่น โรคฝีดาษสุกร (swine pox) เป็นเชื้อไวรัส ซึ่งก่อโรคเฉพาะในสุกร ไม่ติดต่อสู่คน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ปศุสัตว์ชนิดอื่น
กล่าวโดยสรุป คือ โรคลัมปี สกิน เป็นโรคติดต่อในโค กระบือ แต่ไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์ชนิดอื่น โรคฝีดาษ-สุกร เกิดโรคเฉพาะในสุกร ไม่ติดต่อสู่สัตว์ชนิดอื่น และไม่ติดต่อสู่คน ดังนั้น การบริโภคเนื้อสัตว์จึงต้องรับประทานสุกทุกกรณี เพื่อหลีกเลี่ยงโรคบางโรคที่เกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์สุกๆดิบๆ เช่น โรคท้องร่วง หรือ โรคหูดับ (Streptococcus suis)
ดังนั้น หากเกษตรกรพบว่าสัตว์เลี้ยงของท่านมีอาการดังข้างต้น ขอให้รีบแจ้งสายด่วนแจ้งโรคระบาดกรมปศุสัตว์ call center 063-2256888 ซึ่งเป็นบริการโทรศัพท์รับแจ้งโรคและทุกกรณีด้านสุขภาพสัตว์ ที่จะช่วยประสานการติดต่อระหว่างเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ นอกจากนี้ เกษตรกรและประชาชนทั่วไปยังสามารถแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” ได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้เพื่อกรมปศุสัตว์จะได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที อันจะเป็นการลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากโรคนี้ได้ และสามารถติดตามสถานการณ์การระบาดและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคลัมปี สกิน ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ หรือที่ https://sites.google.com/view/dldlsd/home อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด