อ.ส.ค.ดีเดย์เตรียมเปิด“ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง”ชูเป็นฟาร์มสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการจัดการฟาร์มที่ทันสมัยแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมเปิดให้เกษตรกร นักวิชาการเข้ามาเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางในการลดต้นทุนการผลิตและเสริมเขี้ยวเล็บความสามารถด้านการแข่งขันการเลี้ยงโคนมเชิงพาณิชย์ในประเทศและการแข่งขันได้ในกรอบการค้าเสรีในอนาคต
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากเร่งรัดให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.)เร่งดำเนินการจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง (Thai-Denmark Smart Dairy Farm)ในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรีนั้น ล่าสุดโครงการดังกล่าวเตรียมเปิดบริการให้เกษตรกร นักวิชาการและประชาชนทั่วไปเข้ามาศึกษาเรียนรู้และพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพสูงในเดือนมิถุนายน 2564 นี้
สำหรับโครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติงบประมาณ อ.ส.ค.ยืมเงินจำนวน 51.7 ล้านบาทจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ สำหรับลงทุนในการจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูงขึ้นในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เมื่อปี 2562 ซึ่งฟาร์มดังกล่าวถือเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมของประเทศในอนาคต
“อ.ส.ค.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม มีความจำเป็นต้องพัฒนากิจการโคนมของประเทศ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการโคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยจัดให้มีแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการฟาร์ม ที่จะทำให้โคนมให้ผลผลิตเป็นไปตามความสามารถทางพันธุกรรมสามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการเลี้ยงโคนมเชิงพาณิชย์รวมถึงสามารถแข่งขันได้ในกรอบการค้าเสรีในอนาคต “นางสาวมนัญญา กล่าว
ด้าน นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูงที่กำลังเตรียมเปิดใช้ นั้น อ.ส.ค.จะพัฒนาให้เป็นฟาร์มสาธิตเชิงธุรกิจในพื้นที่ของอ.ส.ค. ให้เป็น Smart Dairy Farm ที่ใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดการฟาร์ม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติและการสร้างบุคลากรมืออาชีพด้านการเลี้ยงโคนม รวมทั้งเป็นฟาร์มสำหรับใช้ในการศึกษาและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการฟาร์ม ให้มีความสะดวกและเหมาะสมกับการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรยุคใหม่ที่สอดคล้องกับหลักการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) แหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีและรูปแบบการจัดการฟาร์มที่มีการแบ่งกลุ่มโคนมตามการให้ ผลผลิตน้ำนม การเรียนรู้รูปแบบการให้อาหารผสมสำเร็จ (Total Mixed Ration, TMR) ที่มีมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของโคแต่ละกลุ่ม เป็นต้น
โดยฟาร์มดังกล่าว กำหนดการให้มีการจัดตั้งฟาร์มโคนมสาธิตในพื้นที่ของอ.ส.ค.ที่มีจำนวนแม่โครีดนมไม่น้อยกว่า 100 ตัว โดยแม่โคนม ให้ผลผลิตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20 กิโลกรัม/ตัว/วัน และมีองค์ประกอบน้ำนมสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานการรับซื้อและการจัดฝึกอบรม รวมถึงการศึกษาดูงานในฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง สำหรับนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ส่งเสริม และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ปีละไม่น้อยกว่า 680 คน และมีการเข้าเยี่ยมชมกิจการฟาร์มสำหรับนักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ10 จากจำนวนนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่ 60,000 คนต่อปี ซึ่งฟาร์มดังกล่าวถือเป็นฟาร์มสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการฟาร์มที่ทันสมัย นำร่องแห่งแรกของประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม นำไปปรับใช้สาหรับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตโคนม
ทั้งนี้ ถึงแม้ปัจจุบัน อ.ส.ค.จะมีฟาร์มโคนมอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนไปเป็นฟาร์มโคนมอินทรีย์ทั้งหมดแล้ว เพื่อให้มีผลผลิตนมอินทรีย์เพียงพอสำหรับรองรับความต้องการของผู้บริโภคในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมมอร์แกนิค ทำให้ อ.ส.ค.ไม่มีฟาร์มโคนมที่มีการจัดการแบบทั่วไป สำหรับเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร นอกจากนั้นโรงเรือนคอกพักโคและเครื่องจักรอุปกรณ์ก็มีอายุการใช้มาอย่างยาวนานไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการจัดการฟาร์มโคนมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ประกอบกับ อ.ส.ค. ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังขาดฟาร์มที่มีเครื่องจักรอุปกรณ์และการจัดการฟาร์มด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้เข้าอบรม
ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในการเปิดเขตการค้าเสรี (Free Trade Area, FTA) ในหลายกรอบการค้า ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีโดยรวมแล้วประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์แต่ในอีกด้านหนึ่งพบว่าจะมีสินค้าเกษตรบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรวมถึงโคนมและผลิตภัณฑ์นมด้วยโดยเฉพาะการเปิดเขตการค้าเสรีกรอบทวิภาคีไทย-ออสเตรเลียและไทย–นิวซีแลนด์ซึ่งประเทศดังกล่าวนี้มีพัฒนาการความก้าวหน้า ในอุตสาหกรรมโคนมมากกว่าประเทศไทยมาก ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมมาอย่างยาวนานแล้วก็ตาม แต่ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพการเลี้ยงเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้